วันที่ 8 ม.ค.67 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) อาคาร 99ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 สำนักเครื่องจักรกล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทาน/โครงการชลประทาน/โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา ผู้อำนวยการส่วนและหัวหน้าฝ่าย ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน พบว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 58,063 ล้าน ลบ.ม. (76% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 16,937 ล้าน ลบ.ม. (68% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มี ด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก รักษาระบบนิเวศ การเกษตร อุตสาหกรรม และสำรองไว้ใช้ในต้นฤดูฝนหน้าตามลำดับ จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศไปแล้วกว่า 7,904 ล้าน ลบ.ม. (37%) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 2,386 ล้าน ลบ.ม. (40%) ปัจจุบันทั้งประเทศมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 5.58 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 96 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 4.09 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 135 ของแผนฯ ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ด้านสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลัก ให้พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังพร้อมปรับแผนการระบายน้ำเพื่อรักษาคุณภาพน้ำให้ค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา
ส่วนพื้นที่ภาคใต้ปัจจุบันปริมาณฝนเริ่มลดน้อยลง จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 13 – 14 ม.ค. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ ทั้งนี้ กรมชลประทานได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นธรรม โดยจัดสรรน้ำตามรอบเวร พร้อมประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เกษตรกรหันมาทำนาแบบเปียกสลับแห้งเพื่อเป็นการประหยัดน้ำ พร้อมประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอในทุกกิจกรรม