กสก.ดึงกูรูชาวเยอรมันอบรมจนท.บูมเกษตรแปลงใหญ่

กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้าโครงความร่วมมือเยอรมัน – ไทย เพื่อพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่อย่างยั่งยืน พร้อมเชิญผู้เชี่ยวชาญถ่ายทอดความรู้ด้านจัดการกลุ่ม เครื่องจักรกล และวิเคราะห์ข้อมูล ให้เกษตรกรนำไปพัฒนาระบบเกษตรแปลงใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตต์พันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงความคืบหน้าโครงความร่วมมือระหว่างเยอรมัน – ไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการทำเกษตรแปลงใหญ่อย่างยั่งยืนในประเทศไทย ก่อนจะสิ้นสุดโครงการในเดือนสิงหาคม 2566 นี้ว่า ภาพรวมของโครงการเมื่อช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา เป็นไปด้วยดี โดยโครงการจะเน้นเชิญวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเยอรมันให้เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านต่าง ๆ ให้กับเกษตรกรแปลงใหญ่นำร่องโครงการโดยตรง

แต่ที่ผ่านมา มีความกังวลว่าองค์ความรู้ที่เกษตรกรได้รับจากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญนั้น เกษตรกรจะสามารถนำไปใช้และวิเคราะห์ผลการดำเนินงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพหรือไม่ จึงมีความคิดจะปรับกระบวนการทำงาน โดยใช้หลักของ TOT หรือ Training of Trainers Workshop เข้ามาดำเนินการ จึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไป เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะประเด็นแผนกลยุทธ์และการบริหารจัดการกลุ่ม การบริหารจัดการเครื่องจักรกล และการจัดเก็บข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลกลุ่ม สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้รับจากผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมันถ่ายทอดไปยังเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องไปให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเกษตรแปลงใหญ่แก่เกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ขับเคลื่อนงานโครงการความร่วมมือระหว่างเยอรมัน-ไทยฯในช่วงเวลาที่เหลืออยู่อย่างเต็มที่ ให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายของโครงการ เพื่อให้เกษตรกรทั่วประเทศได้รับประโยชน์สูงสุดจากองค์ความรู้ต่าง ๆ

ด้านนายวีรศักดิ์ บุญเชิญ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร และหัวหน้าสำนักงานโครงการความร่วมมือระหว่างเยอรมัน – ไทยฯ กล่าวว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เข้าอบรมเชิงปฏิบัติการ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่นำร่องของโครงการ 4 ชนิดพืช ได้แก่ พืชผัก ไม้ดอก มันสำปะหลัง และอ้อย ในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด 8 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองชัยภูมิ อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอด่านขุนทด อำเภอภูเขียว อำเภอสูงเนิน และอำเภอพระทองคำ จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อนำความรู้ ความเข้าใจ ที่ได้รับจากผู้เชี่ยวชาญ ไปใช้ในระบบเกษตรแปลงใหญ่ให้พัฒนาต่อไป