“พีรพันธุ์” ลงพื้นที่เพชรบุรี ติดตามการแก้ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม

วันนี้ (13 พ.ค.67) ที่โรงสูบน้ำไร่สะท้อน-ไร่โคก โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาราชบุรีฝั่งขวา ตำบลหนองกระปุ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี นายพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามปัญหาภัยแล้ง และติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในจังหวัดเพชรบุรี พร้อมพบปะเกษตรกรในพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาและมอบแนวทางแก้ไข โดยมี นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่และบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน

สำหรับโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าไร่สะท้อน-ไร่โคกพร้อมระบบส่งน้ำ บริเวณหัวงานจะมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 3 เครื่อง ทำหน้าที่สูบน้ำจากคลองส่งน้ำสายใหญ่ 1 ขวา ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาราชบุรีฝั่งขวา เข้าพื้นที่ โดยจะมีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 16,000 ไร่

จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ ได้เดินทางไปยังอาคารสำนักงานเทศบาลตําบลหัวสะพาน อำเภอเมืองเพชรบุรี เพื่อติดตามโครงการก่อสร้าง ประตูระบายน้ำคลองสามง่าม ตำบลหัวสะพาน และประตูระบายน้ำคลองอรรถสิทธิ์ตำบลบ้านกุ่ม จากนั้นได้เดินทางไปยังบริเวณหน้างาน ตามลำดับ

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้วางแผนดำเนินโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำอรรถสิทธิ์ เนื่องจาก ประตูระบายน้ำปากคลองเดิมอยู่ในสภาพชำรุดไม่สามารถเปิด-ปิดบานได้ ในฤดูน้ำหลากน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีจะดันเข้าคลอง ส่งผลให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ หากโครงการแล้วเสร็จ จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝนประมาณ 4,000 ไร่ และฤดูแล้งประมาณ 700 ไร่ อีกทั้งยังช่วยบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยให้แก่ประชาชนในพื้นที่

นอกจากนั้น ยังมีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองบางจากและคลองปากง่าม เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากคลองที่ตื้นเขิน โดยจะทำการขุดลอกคลองบางจากและคลองปากง่าม ระยะทาง 3 กิโลเมตร เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง โดยสามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นถึง 180,000 ลบ.ม. และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งจะสามารถช่วยลดความเสียหายจากอุทกภัยให้พื้นที่เกษตรกรรมกว่า 3,000 ไร่

ในการนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ กรมชลประทานเร่งดำเนินโครงการต่างๆให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค รวมไปถึงเกษตรกรรมอย่างเพียงพอ ตลอดจนช่วยบรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลากให้พื้นที่อีกด้วย