กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้าสนับสนุนกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ชูกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกส้มสายน้ำผึ้งตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเกษตรปลอดภัย พร้อมส่งเสริมการผลิตและการจัดการสินค้าเกษตรด้วย BCG Model
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงการส่งเสริมกลุ่มแปลงใหญ่ส้ม สายน้ำผึ้งตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้เน้นถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ กับสมาชิกหรือเกษตรกรผู้ปลูกส้มสายน้ำผึ้งในเรื่องความปลอดภัยของสินค้า การใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องและปลอดภัย การจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน การจัดการดินและปุ๋ยในสวนส้ม รวมถึงการตรวจรับรองแปลงมาตรฐาน GAP แบบดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคส้มสายน้ำผึ้งที่ปลอดภัยและมั่นใจในกระบวนการผลิต พร้อมส่งเสริมการผลิตและการจัดการสินค้าเกษตรด้วย BCG Model หรือพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่มุ่งเน้นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมกัน
โดยจุดเด่นของส้มสายน้ำผึ้งในอำเภอฝาง จะมีผิวสีเหลืองทองอร่ามเมื่อสุกได้ที่ เปลือกบาง ปอกง่าย ชาน หรือใย มีลักษณะนิ่มไม่หนา เนื้อแน่นน้ำเยอะ มีรสจัดจ้าน กลมกล่อม หวานนำอมเปรี้ยวเล็กน้อยไม่หวานจืด โดยเฉพาะส้มสายน้ำผึ้งในตำบลโป่งน้ำร้อน และตำบลม่อนปิ่น ได้รับน้ำแร่ธรรมชาติจากน้ำพุร้อน ซึ่งเกิดจากหินร้อนเหลวที่อยู่ใต้เปลือกโลก (แม็กม่า) ซึ่งมีแร่ธาตุอาหาร ได้แก่ แคลเซียม โซเดียม และซัลเฟอร์ ทำให้ส้มมีคุณภาพดี รสชาติหอมหวาน สีเปลือกเหลืองสวยงาม และเป็นที่นิยมของผู้บริโภค
ด้านนายคเณศ หน่อราช ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ส้มสายน้ำผึ้งตำบลโป่งน้ำร้อน กล่าวว่า แม้ว่าจะเพิ่งก่อตั้งกลุ่มได้เพียง 3 ปี แต่ทางกลุ่มก็มีความเข้มแข็ง เนื่องจากได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งด้านการผลิต การดูแลรักษา การผลิตที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน รวมถึงช่องทางการจำหน่ายสินค้าจากกรมส่งเสริมการเกษตร โดยสามารถขายให้พ่อค้าที่มารับซื้อวันละกว่า 2 ตัน ราคาขายส่งที่กิโลกรัมละ 20-30 บาท ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกส้มส่วนใหญ่ มีรายได้เพียงพอ และบางรายยังสามารถจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
สำหรับกลุ่มแปลงใหญ่ส้มสายน้ำผึ้งตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มีสมาชิก 30 ราย พื้นที่
การผลิต 346 ไร่ ได้ผลผลิตรวมทั้งหมด 1,557 ตัน ผลผลิตเฉลี่ยที่ 4,500 กิโลกรัมต่อไร่ โดยผลผลิตจะมีมาก
ช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคมของทุกปี