นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ศัตรูพืชในฤดูแล้งของพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทยที่เกษตรกรควรเฝ้าระวัง ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ทุเรียน มังคุด และเงาะ เนื่องจากเป็นช่วงที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตและแพร่กระจายของศัตรูพืชสำคัญหลายชนิด หากศัตรูพืชเข้าทำลายแปลงเพาะปลูกอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณรวมถึงคุณภาพของผลผลิตได้ โดยข้อควรปฏิบัติหลักในการเพาะปลูกพืชทุกชนิดคือ เกษตรกรจะต้องคำนึงถึงการเตรียมแปลงปลูกที่สะอาดปลอดภัย มีการพรวนดินกำจัดศัตรูพืช คัดเลือกเมล็ดและต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ มีการเตรียมการป้องกันกำจัดศัตรูพืช เช่น การแช่เมล็ดในสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชก่อนปลูก การอนุรักษ์แมลงศัตรูธรรมชาติต่าง ๆ รวมทั้งเมื่อเพาะปลูกแล้วควรหมั่นสำรวจแปลงปลูกอยู่เสมอ เพื่อป้องกันและควบคุมกำจัดศัตรูพืชได้อย่างเท่าทันต่อสถานการณ์
มันสำปะหลัง ในปัจจุบันตลาดยังมีความต้องการผลผลิตในปริมาณมาก การเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิตมันสำปะหลังไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญ ศัตรูพืชที่ควรเฝ้าระวังในฤดูแล้ง ได้แก่ เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง หากเข้าดูดกินน้ำเลี้ยงต้นอ่อนยอดจะงอหงิกเป็นพุ่ม ลำต้นบิดเบี้ยวมีช่วงข้อถี่ แตกใบเป็นพุ่มหนากระจุกในส่วนของยอดใบ และมีราดำที่เกิดจากมูลเพลี้ยแป้งปกคลุมส่วนของใบพืช ป้องกันได้โดยจัดการระบบให้น้ำสร้างความชุ่มชื้นอยู่เสมอ และปล่อยศัตรูธรรมชาติ เช่น แมลงช้างปีกใส ด้วงเต่าตัวห้ำ ผีเสื้อหางติ่งตัวห้ำ และแตนเบียน ไรแดง ดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ใบเหลืองซีด ม้วนงอ และหลุดร่วง มักพบ 2 ชนิดสำคัญคือ ไรแดงหม่อนที่ทำลายส่วนใบล่างขึ้นสู่ยอด และไรแดงมันสำปะหลังที่ทำลายจากยอดลงไป เกษตรกรต้องหมั่นสำรวจแปลงปลูก และอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ เช่น ด้วงเต่า ด้วงปีกสั้น และไรตัวห้ำ เพลี้ยหอยเกล็ดขาว ดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณก้านใบและหลังใบ ทำให้ใบเหลืองและร่วง หากแพร่กระจายทั้งลำต้นจะทำให้ต้นแห้งตาย แมลงหวี่ขาวยาสูบ อาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใต้ใบ เป็นพาหะนำโรคใบด่างมันสำปะหลังที่จะทำให้ยอดมันสำปะหลังด่างเขียวอ่อนหรือเหลืองสลับเขียวเข้ม หงิกงอและเสียรูปทรง ป้องกันโดยอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แมลงช้างปีกใส ด้วงเต่า ตัวห้ำ มวนโอเรียส และแตนเบียนเอ็นคาเซีย
อ้อย ศัตรูพืชที่ควรเฝ้าระวังในฤดูแล้ง ได้แก่ หนอนกออ้อย มักพบ 3 ชนิดสำคัญคือ หนอนกอลายจุดเล็ก และหนอนกอสีชมพู จะทำลายด้วยการเจาะบริเวณโคนต้นระดับผิวดิน ส่วนหนอนกอสีขาว จะเจาะไชจากส่วนยอด ทำให้ยอดแห้งตาย ใบหงิกงอ วิธีป้องกันกำจัดควรปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโครแกรมมาอัตรา 30,000 ตัวต่อไร่ต่อครั้ง ปล่อยติดต่อกัน 2 – 3 ครั้ง ใช้ช่วงที่พบกลุ่มไข่ของหนอนกออ้อย ด้วงหนวดยาวอ้อยเข้าทำลายได้ตั้งแต่ระยะเริ่มปลูกอ้อย โดยเจาะไชเข้าไปกัดกินเนื้ออ้อยภายในท่อนพันธุ์ ทำให้ท่อนพันธุ์ไม่งอกหน่ออ้อยอายุ 1 – 3 เดือน จะถูกกัดกินตรงส่วนโคนที่ติดกับเหง้าให้ขาดออก ทำให้หน่ออ้อยแห้งตาย อ้อยที่มีลำแล้วหากพบการเข้าทำลายจะแสดงอาการกาบใบและใบอ้อยแห้งตายทั้งต้นหรือทั้งกอ วิธีป้องกันกำจัดให้ขุดกออ้อยที่พบอาการแห้งและเก็บดักแด้ตัวหนอนออกไปทำลายนอกแปลง โรยเชื้อราเขียวเมตาไรเซียม อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ โดยโรยบนท่อนพันธุ์พร้อมปลูก (อ้อยปลูก) หรือโรยให้ชิดกออ้อยแล้วกลบดิน (อ้อยตอ) จักจั่น อาศัยอยู่ในดินที่ความลึกตั้งแต่ 30 เซนติเมตรถึง 2.5 เมตร มักพบเป็นแท่งทรงกระบอก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร บิดเป็นเกลียว โผล่ขึ้นจากดินสูงประมาณ 5 – 7 เซนติเมตร คล้ายกับดินที่เกิดจากไส้เดือน แต่มีขนาดใหญ่กว่าโดยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากทำให้ต้นอ้อยแคระแกรน ใบแห้งเหลืองคล้ายขาดน้ำ วิธีป้องกันกำจัดให้หลีกเลี่ยงแปลงปลูกที่เป็นดินร่วนเหนียว หรือปลูกต่อเนื่อง ไถพรวนดินเพื่อจับตัวอ่อนและดักจับตัวเต็มวัยในเวลากลางคืน หากพบกลุ่มไข่จั๊กจั่นบนใบอ้อยให้ตัดไปทำลายทิ้งนอกแปลง
ข้าวโพด ศัตรูพืชที่ควรเฝ้าระวังในฤดูแล้ง ได้แก่ หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด เริ่มทำลายตั้งแต่ข้าวโพดอายุประมาณ 20 วัน มักเจาะทำลายต้นเป็นรูบริเวณข้อที่ใกล้กับดอก หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด มักเริ่มกัดกินยอดและใบ ทำให้ยอดกุด สังเกตเห็นเป็นจุดหรือแถบขาว ใบขาดเป็นรู กระทั่งเจาะเข้าทำลายฝัก วิธีป้องกันกำจัดให้เก็บกลุ่มไข่และหนอนไปทำลายนอกแปลง พ่นด้วยเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัสทูริงเจนซิส สายพันธุ์ไอซาไว หรือสายพันธุ์เคอร์สตากี้ชนิดผง อัตรา 40 – 80 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 4 – 7 วัน และอนุรักษ์ แตนเบียนและหนอน แมลงหำงหนีบ มวนพิฆาต มวนเพชฌฆาต โรคราเขม่าดำ ทำให้เกิดปมสีขาวบนใบ และบริเวณปลายฝัก หากพบให้รีบเก็บไปทำลายนอกแปลงก่อนปมจะแตกและแพร่กระจายเชื้อรา หลีกเลี่ยงการทำให้เกิดแผลซึ่งจะทำให้เชื้อราเข้าโจมตีได้ง่าย
ทุเรียน และมังคุด ให้ระวัง ไรแดง เข้าทำลายในระยะติดดอก ทำให้ชะงักการเจริญเติบโตและทำให้ดอกหลุดร่วงได้ ส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิต วิธีป้องกันกำจัดให้ตัดส่วนที่พบการเข้าทำลายของศัตรูพืชออกไปทำลายทิ้งนอกแปลง และหมั่นสำรวจสวนอยู่เสมอ นอกจากนี้ สำหรับทุเรียนในระยะออกผลให้ระวังหนอนเจาะผลทุเรียน เจาะทำลายผลเกิดเป็นแผลทำให้เชื้อราเข้าทำลายซ้ำจนผลเน่าและหลุดร่วง ป้องกันกำจัดได้โดยตัดแต่งผลทุเรียนไม่ให้แนบชิดติดกันหรือใช้กิ่งไม้หรือกาบมะพร้าวคั่นไม่ให้เป็นที่วางไข่และหลบอาศัยของหนอน รวมทั้งห่อผลด้วยถุงมุ้งไนล่อน ถุงรีเมย์หรือถุงพลาสติกสีขาวขุ่น เจาะรูที่บริเวณขอบล่าง เพื่อให้หยดน้ำระบายออก โดยเริ่มห่อผลตั้งแต่ผลทุเรียนมีอายุ 6 สัปดาห์เป็นต้นไป หากพบผลที่โดนทำลายให้เก็บไปเผาทิ้งหรือฝังนอกแปลง หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ไม่สามารถสังเกตลักษณะการทำลายภายนอกได้ วิธีการป้องกันกำจัดจึงควรเลือกและแช่เมล็ดทุเรียนในสารป้องกันกำจัดแมลงก่อนปลูกตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร และใช้กับดักแสงไฟโดยใช้หลอด black light เพื่อล่อตัวเต็มวัยหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนมาทำลาย
เงาะ ควรเตรียมความพร้อมช่วงเริ่มแตกใบอ่อนจนถึงเริ่มติดผลอ่อน ป้องกัน โรคราแป้ง ซึ่งแพร่กระจายได้ดีสภาพอากาศร้อนและมีฝนตกหรืออากาศเย็นช่วงกลางคืนลักษณะจะพบผงสีขาวหรือสีเทาอ่อนคล้ายแป้งเกาะบนใบอ่อน ช่อดอก และตามร่องขนของผลอ่อน ทำให้ติดผลน้อย ไม่สมบูรณ์ หลุดร่วงง่าย หรือไม่ติดผล แนวทางการป้องกันกำจัดควรหมั่นกำจัดวัชพืชไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรค และลดความชื้นในทรงพุ่มโดยตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง มีอากาศถ่ายเทและได้รับแสงสว่างอยู่เสมอ หากเริ่มสำรวจพบอาการของโรคราแป้งให้ตัดแต่งและเก็บผลเงาะที่ร่วงหล่น รวมถึงใบหรือกิ่งที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเกษตรกรเตรียมแปลงปลูก เมล็ดและต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพ เตรียมการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ตลอดจนหมั่นสำรวจแปลงปลูกอยู่เสมอจะช่วยให้การทำเกษตรได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง เป็นที่ต้องการของตลาด สร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้แก่เกษตรกรได้ ทั้งนี้ หากเกษตรกรต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำ สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ http://www.ppsf.doae.go.th/wordpress/ หรือเฟซบุ๊กกรมส่งเสริมการเกษตร หรือสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ใกล้บ้าน