กรมส่งเสริมการเกษตร ลุยงานเกษตรแปลงใหญ่ต่อเนื่อง หลังสร้างมูลค่าเพิ่มกว่า 7 หมื่นล้านบาท จาก 9,914 แปลง ตั้งเป้าทั่วประเทศมีกว่า 14,800 แปลง พร้อมมุ่งลดต้นทุนการผลิต เพิ่มศักยภาพเกษตรกร และเชื่อมโยงตลาดทั้งในและต่างประเทศ
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงภาพรวมการขับเคลื่อนงานส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ปี 2566 ภายหลังร่วมประชุมคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ระดับประเทศ ครั้งที่ 2/2566 และคณะกรรมการเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ระดับประเทศ ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ว่า ปี 2566 นี้ การขับเคลื่อนงานยังต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายให้มีแปลงใหญ่ทั่วประเทศจำนวน 14,800 แปลง ปัจจุบันดำเนินการมาแล้วกว่า 9,000 แปลง พื้นที่ผลิต 8.5 ล้านไร่ สมาชิกกว่า 5 แสนราย ซึ่งโครงการดำเนินการมาตั้งปี 2559 เป็นต้นมา
“การดำเนินการปีนี้ยังเน้นเรื่องการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร พัฒนาศักยภาพของเกษตรกร และเพิ่มช่องทางการตลาดที่หลากหลาย ที่ผ่านมาสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่า 70,000 ล้านบาท เป็นสินค้ามาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) มากกว่า 150,000 ราย ถือเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของเกษตรแปลงใหญ่ได้ระดับหนึ่ง เมื่อสินค้าเกษตรมีมาตรฐานมากขึ้น ก็ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น นำไปสู่การเชื่อมโยงตลาดที่ใหญ่ขึ้น จะทำให้เกษตรกรได้ประโยชน์จากการที่ขายสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและได้ราคาดีมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นในปีนี้ หรือปีต่อ ๆ ไป กรมส่งเสริมการเกษตร จึงต้องสนับสนุนให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นเกษตรแปลงใหญ่ให้มากกว่าเดิม เพื่อผลประโยชน์ด้านการผลิต การลดต้นทุน และการเชื่อมโยงตลาด ในระดับประเทศ และต่างประเทศ”รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
ด้านนายสมเกียรติ ทองพันธ์ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ระดับประเทศ กล่าวว่า จุดแข็ง ของเกษตรแปลงใหญ่คือการรวมตัวของเกษตรกรที่ผลิตสินค้าเหมือนกัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งในด้านทักษะการผลิต การลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะการหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพง และการใช้ปุ๋ยจากการวัดค่าของดิน องค์ความรู้ หรือทักษะใหม่ ๆ ช่องทางการตลาด และการต่อรองราคาสินค้า ทำให้ผลประโยชน์ ตกถึงมือเกษตรกรอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงขอขอบคุณรัฐบาลโดยกรมส่งเสริมการเกษตร ที่สนับสนุนงานเกษตรแปลงใหญ่ มาอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่นายสายชล จันทร์วิไร ประธานกรรมการเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สินค้าเกษตร (ศพก.) ระดับประเทศ กล่าวว่า ตั้งเป้าหมายว่า สินค้าเกษตรทุก ศพก. ต้องได้รับมาตรฐานความปลอดภัย หรือ GAP ทุกแห่ง เพื่อจะได้สร้างความมั่นใจ ให้กับผู้บริโภค ปัจจุบันเรามี ศพก.หลัก จำนวน 882 ศูนย์ และ ศพก.เครือข่าย จำนวน 13,954 ศูนย์ทั่วประเทศ โดยมีการประสานข้อมูลกันตลอดเวลา นอกจากนี้ ศพก. ยังมีหลักสูตรการเรียนรู้ เรื่องการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต เพื่อให้เกษตรกรทำน้อยแต่ได้มาก รองรับความต้องการของตลาดหรือการบริโภค ทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อให้สินค้าเกษตรของไทยตอบสนองต่อนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกอย่างแท้จริง