กรมส่งเสริมการเกษตรแนะเกษตรกรใช้แหนแดงร่วมกับปุ๋ยเคมี ลดต้นทุนการผลิต ปรับสมดุลดิน

กรมส่งเสริมการเกษตร สนับสนุนเกษตรกรใช้แหนแดงร่วมกับปุ๋ยเคมี ช่วยลดต้นทุนการผลิตภาคเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นทั้งปุ๋ยและพืชอาหารสัตว์

 

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงแนวทางการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี ถึงแม้ว่าราคาปุ๋ยเคมีในปัจจุบันจะปรับลดลงแล้ว แต่กรมส่งเสริมการเกษตร ยังคงส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ปรับปรุงค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้เหมาะสม รวมทั้งการใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน (ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ) พร้อมถ่ายทอดความรู้เพื่อให้ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ทำหน้าที่เป็นต้นแบบและกลไกการขยายผลสู่ชุมชนรอบข้าง โดยอีกหนึ่งแนวทางที่มีประโยชน์และเป็นที่นิยมของเกษตรกรคือ การผลิตและใช้แหนแดง

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า แหนแดง เป็นเฟิร์นลอยน้ำชนิดหนึ่งมีขนาดเล็ก เปรียบเสมือนโรงงานผลิตปุ๋ยไนโตรเจนธรรมชาติ โดยกระบวนการตรึงไนโตรเจนของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่อาศัยอยู่ในโพรงใบของแหนแดง ทำให้แหนแดงมีประโยชน์ในด้านเป็นปุ๋ยชีวภาพทดแทนหรือลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีได้ เนื่องจากแหนแดงมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ สูงถึง 4.6 % ซึ่งสูงกว่าพืชตระกูลถั่วที่มีอยู่ ประมาณ 3 % การใช้แหนแดงจะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ปรับปรุงโครงสร้างดินให้ดีขึ้นในระยะยาว และยังเป็นการช่วยดูแลฟื้นฟูทรัพยากรดิน นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ได้ เช่น เป็ด ไก่ และหมู ดังนั้น จะเห็นว่าแหนแดง เป็นตัวเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ประเทศไทย พบแหนแดงอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์อะซอลล่า พินนาต้า (Azolla pinnata) เป็นพันธุ์พื้นเมือง มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน อินเดีย และออสเตรเลีย และสายพันธุ์ อะซอลล่า ไมโครฟิลล่า (Azolla microphylla) ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนสหรัฐอเมริกา เป็นสายพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตร นำมาคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์จนได้แหนแดงที่มีขนาดใหญ่ ขยายพันธุ์ได้เร็ว ให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์พื้นเมืองถึง 10 เท่า เพาะเลี้ยงง่าย เจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณได้อย่างรวดเร็วจนเป็นที่นิยมของเกษตรกรในปัจจุบัน

สำหรับการเพาะพันธุ์แหนแดง เกษตรกรสามารถใช้พื้นที่เพียงเล็กน้อยในการเพาะขยายพันธุ์ได้ โดยการใช้บ่อซีเมนต์ ขนาดรอบวง 80 เซนติเมตร สูง 40 เซนติเมตร เจาะรูเหนือก้นบ่อ 20 เซนติเมตร และภายในบ่อให้ทำการใส่ดินนา หรือ ดินเหนียว ให้สูงจากก้นบ่อ 10 เซนติเมตร เติมปุ๋ยคอก 1 กิโลกรัม และเติมน้ำ ให้สูงจากระดับดิน 10 เซนติเมตร หลังจากนั้นใส่แหนแดงลงในบ่อแม่พันธุ์ 50 กรัมใช้ระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงประมาณ 14 วัน แหนแดงจะเจริญเต็มบ่อ สามารถนำไปขยายต่อได้ และเมื่อครบ 30 วัน ก็จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป ทั้งนี้ หากเกษตรกรที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษา หรือขอรับได้ที่ จุดบริการพืชพันธุ์ Doae ณ ศูนย์ขยายพันธุ์พืช ทั้ง 10 แห่ง และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช กรมส่งเสริมการเกษตร

ทั้งนี้ หากเกษตรกรผู้เลี้ยงแหนแดงไม่ประสงค์ที่จะเพาะพันธุ์แหนแดงใช้แล้ว ขอให้ทำลายทิ้งโดยการฝังลงดิน ห้ามนำไปทิ้งลงแหล่งน้ำธรรมชาติ เนื่องจากแหนแดงมีการขยายพันธุ์เร็ว เมื่อมีความหนาแน่นเกินไปจะส่งผลให้แสงแดดไม่สามารถส่องลอดลงไปในแหล่งน้ำได้ จึงอาจจะส่งผลเสียต่อคุณภาพแหล่งน้ำได้