กรมตรวจบัญชีสหกรณ์แถลงข่าวย้ำสร้างความเข้มแข็งด้านบัญชีให้กลุ่มเกษตรกร

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ แถลงผลดำเนินงานและทิศทางการปฏิบัติงานปี 2565 ย้ำเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งด้านการเงินการบัญชีแก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เร่งมาตรการเชิงรุกตรวจสอบระบบการควบคุมภายใน สร้างความโปร่งใส ป้องกันการทุจริต พร้อมจับมือกับภาคีสร้างวินัยด้านบัญชีและการเงินให้กับนักเรียนและเยาวชนทั่วประเทศ

นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ พร้อมคณะผู้บริหารแถลงข่าวการสร้างความเข้มแข็งด้านการเงินและบัญชีให้แก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พร้อมป้องกันการทุจริตและสร้างความโปรงใสในระบบสหกรณ์ทั่วประเทศ ที่ห้องประชุม 404 อาคาร 4 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านการเงินและการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ทั้งด้านการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้ระบบการเงินและบัญชีมีประสิทธิภาพ ไม่ให้เกิดข้อบกพร่อง เพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์ที่มีมูลค่ากว่า 3.58 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.54 ของ GDP ทั้งประเทศ พร้อมทั้งดำเนินงานเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพด้านการเงินการบัญชีแก่เกษตรกร ผ่านกระบวนการเรียนรู้การจัดทำบัญชีให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้

1.ด้านการสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ดำเนินการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้การสอบบัญชีสหกรณ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องตามมาตรฐานการสอบบัญชี ทั้งในรูปแบบการเป็นผู้สอบบัญชีเอง และการควบคุมกำกับคุณภาพงานสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีภาคเอกชน ให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อป้องกันการทุจริตในอนาคต โดยปัจจุบัน มีผู้สอบบัญชีที่ขึ้นทะเบียน ทั้งหมดจำนวน 270คน แยกเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) จำนวน 248 คนและมีบุคคลอื่น จำนวน 22 คน โดยในปี 2565 กรมฯ ได้ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรไปแล้วกว่า 9,0000 แห่ง และแจ้งให้สหกรณ์แก้ไขปรับปรุงแล้วจำนวน1,421 แห่ง

ทั้งนี้ กรมฯ ยังมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ โดยวางระบบการตรวจสอบที่ครอบคลุมทั้งด้านการบริหารจัดการและการประเมินประสิทธิภาพระบบการควบคุมภายในของสหกรณ์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการป้องกันเหตุทุจริตได้ โดยจัดทีมตรวจสอบพิเศษ เข้าตรวจสอบระบบการควบคุมภายในของสหกรณ์ขนาดใหญ่ที่ตรวจสอบบัญชีโดยผู้สอบบัญชีภาคเอกชนทุกสหกรณ์ทั่วประเทศ จำนวน 1,178 สหกรณ์ ทั้งด้านการเงินการบัญชีและระบบการควบคุมภายใน พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำแก่สหกรณ์เกี่ยวกับจุดอ่อนจากระบบการควบคุมภายในที่ตรวจพบ พร้อมพัฒนาความรู้ให้ผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ สามารถสอดส่องดูแลการทำงานของคณะกรรมการดำเนินการและฝ่ายจัดการสหกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

นอกจากนี้ยังได้นำนวัตกรรมแอปพลิเคชัน Smart4M มาใช้ เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้คณะกรรมการสหกรณ์ สามารถตรวจสอบสถานะทางการเงิน นำไปวางแผนการบริหารจัดการ สร้างระบบการควบคุมภายในที่ดี และส่งเสริมให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของตนเองผ่านแอปพลิเคชันได้อย่างรวดเร็วและลดการทุจริต

ปัจจุบัน มีสหกรณ์ใช้โปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ที่พัฒนาโดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ รวม 2,569 แห่ง มีสหกรณ์ใช้แอปพลิเคชัน Smart4M รวม 935 แห่ง และเกษตรกรใช้ SmartMe รวม 51,861 คน นอกจากนี้ ยังได้เสริมสร้างสมรรถนะให้แก่ผู้สอบบัญชีให้มีความรู้ด้าน IT เพิ่มขึ้น มีการพัฒนาเทคโนโลยีช่วยตรวจสอบบัญชี อาทิ โปรแกรมเฝ้าระวังและเตือนภัย ทางการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร (CFSAWS:ss) เพื่อเฝ้าระวังและเตือนภัยด้านบัญชีและการเงินครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

และ 2.ด้านการสอนบัญชีแก่เกษตรกรและกลุ่มเป้าหมาย โดยกรมฯ ได้ดำเนินงานส่งเสริมการจัดทำบัญชีในครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ ให้กับเกษตรกรและสมาชิกสถาบันเกษตรกร พร้อมทั้งกำกับแนะนำกระตุ้นและติดตามการจัดทำบัญชีของเกษตรกร โดยในปี 2565 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการจัดทำบัญชีให้ขยายผลไปในทุกกลุ่มเป้าหมาย กว่า 64,000 ราย

 
 

นอกจากการสอนบัญชีให้สถาบันเกษตรกรแล้ว เด็กและเยาวชนถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ควรได้รับการปลูกฝังความรู้ด้านการจัดทำบัญชี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างวินัยทางการเงินให้ตนเอง โดยกรมฯ ได้เข้าร่วมสนองงานตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี 2565 ได้อบรม และแนะนำการจัดทำบัญชีกิจกรรมสหกรณ์นักเรียนให้แก่โรงเรียนในสังกัดต่าง ๆ เช่นโรงเรียนสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.)โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน(/สพฐ.)โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) และสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) จำนวน 524 โรงเรียน มีครู และนักเรียนได้รับการอบรมจำนวน 2,037 ราย

พร้อมสานต่อโครงการต้นกล้าความดี สู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียง เป็นโครงการที่ขยายผลการถ่ายทอดความรู้และส่งเสริมการจัดทำบัญชีให้แก่เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้และเข้าใจถึงวิธีการบันทึกบัญชี รู้จักการคิดคำนวณเลข สามารถวางแผนในการใช้จ่ายเงิน มีเครือข่ายการจัดการภูมิปัญญาทางบัญชี ระหว่างโรงเรียน นักเรียน และขยายผลไปสู่ผู้ปกครองและชุมชน โดยมีโรงเรียนที่รับผิดชอบ รวม 447 โรงเรียน ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการ รวม 405 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนในสังกัด สพฐ. จำนวน191 โรงเรียน และ ตชด. จำนวน 214 โรงเรียน ดำเนินการไปแล้ว 211 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 52.10 (ข้อมูล ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2565)

นอกจากนี้ กรมฯ ได้บูรณาการความร่วมมือการสอนบัญชีให้ขยายผลยิ่งขึ้น อาทิ การลงนาม MOU “การถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียง บัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือน และสหกรณ์นักเรียน ให้แก่เด็กและเยาวชน” ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อขยายผลองค์ความรู้ด้านการจัดทำบัญชีให้เข้าถึงสถาบันการศึกษา กำหนดระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2565-2569 รวม 26,807 โรงเรียน รวมจำนวนนักเรียน 988,256 คน โดยในปี 2565ดำเนินการ 5 % รวมจำนวนโรงเรียนทั้งหมด 1,155 แห่ง และจำนวนนักเรียน รวม 68,593 คน และตั้งเป้าหมายดำเนินการในปีต่อไป ปีละ 24% จนครบตามเป้าหมายทั้งโครงการ

และในวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ได้จัดให้มีพิธี MOU โครงการ “ชุมชนคนทำบัญชี เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน” ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย โดยจะดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2565 กลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนในชุมชนพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกอำเภอ ทั่วประเทศ 76 จังหวัด มีครูบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ทำหน้าที่เป็นวิทยากรในการอบรม กำกับและติดตามประเมินผลความรู้ที่ได้ไปเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพของตนเอง ให้เกิดวินัยด้านการเงิน ตลอดจนพัฒนาต่อยอดให้เป็นครูบัญชีได้ในอนาคต

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการปูพื้นฐานสร้างวินัยทางการเงินแก่ประชาชนทั่วไป กรมฯ ได้จัดทำวีดิทัศน์การสอนบัญชีในรูปแบบ 5 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทยกลาง ภาษาถิ่นเหนือ ภาษาถิ่นอีสาน ภาษาถิ่นใต้ และภาษายาวี เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง โดยเป็นสื่อการเรียนรู้ที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ปลูกฝังให้ใช้บัญชีเป็นเครื่องมือนำไปสู่การใช้ชีวิตอย่างมีวินัยทางการเงิน และตระหนักถึงคุณค่าการออมอีกทางหนึ่งด้วย