กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เดินหน้าเพิ่มศักยภาพครูบัญชีอาสาสู่ Smart Farmer ด้านบัญชี

การสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้เกษตรกรและสถาบันเกษตร โดยการนำระบบบัญชีไปวางรากฐานผ่าน แกนนำเกษตรกรที่เป็นอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชีหรือที่เรียกว่า”ครูบัญชีอาสา” เพื่อเป็นตัวแทนทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการจัดทำบัญชี การใช้ข้อมูลทางบัญชีเพื่อการวางแผนอาชีพ การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สู่เพื่อนเกษตรกรและประชาชนทั่วไปในพื้นที่ต่าง ๆ ทุกจังหวัดทั่วประเทศนั้น ถือเป็นงานสำคัญและเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการขับเคลื่อนการนำระบบบัญชีไปวางรากฐานในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคการเกษตรไทย

“กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้กำหนดแผนการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชีหรือครูบัญชีอาสา ให้เป็น Smart Farmer ด้านบัญชี เพื่อเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการจัดทำบัญชีและการนำบัญชีมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนการผลิตแก่เกษตรกร โดยจะส่งเสริมให้มีครูบัญชีประจำศูนย์การเรียนรู้ ให้สามารถให้บริการความรู้ด้านการจัดทำบัญชีแก่เกษตรกรที่ขอรับบริการ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานให้มีความเข้มแข็งและกว้างขวางยิ่งขึ้น”

นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวภายหลังเข้าร่วมพิธีเปิดงานสัมมนาคณะกรรมการอาสาสมัครเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะกรรมการอาสาสมัครเกษตรจังหวัด ณ โรงแรมทีเค พาเลซแอนด์คอนเวนชั่น ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ในโอกาส ที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้เข้าร่วมจัดนิทรรศการเผยแพร่การดำเนินงานส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการจัดทำบัญชี

ปัจจุบันมีครูบัญชีที่ขึ้นทะเบียนและปฏิบัติงานกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทั่วประเทศ จำนวน 7,636 ราย

โดยในแต่ละปี กรมฯ จะคัดเลือกครูบัญชีที่มีความรู้ ความสามารถและมีความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพ

ด้านการเกษตรควบคู่กับการนำบัญชีไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถนำข้อมูลทางบัญชีไปใช้ในการวางแผนประกอบอาชีพ และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เครือข่ายในชุมชนให้เข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกัน และพึ่งพาตนเองได้ เพื่อคัดเลือก

ให้เป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ระดับภาค และระดับประเทศ เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณและเผยแพร่ผลงาน

ให้ปรากฏต่อสาธารณชน โดยครูบัญชีอาสาเหล่านี้จะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์และเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ที่สำคัญคือ มีการจัดทำบัญชีฟาร์มอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ บัญชีรับ – จ่ายในครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ มีการนำข้อมูลทางบัญชีมาใช้ในการวางแผนหรือปรับเปลี่ยนอาชีพ พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ส่วนรวมนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพต่อไป

นายอดุลย์ วิเชียรชัย เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาบัญชีฟาร์ม ปี 2565 และเจ้าของ “อดุลย์คลองหลวง ฟาร์มเห็ด” ศูนย์เรียนรู้สัมมาชีพชุมชนตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเห็ดภายใต้แบรนด์ “BUGKRIAB” ซึ่งเป็นแบรนด์ของข้าวเกรียบสมุนไพร กล่าวถึงแนวทางการจัดทำบัญชีของเกษตรกร เพื่อพัฒนาไปสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยแยกออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน การประกอบอาชีพ และการลดต้นทุน โดยทั้งสามส่วนทำควบคู่กันไปให้สามารถเกื้อกูลซึ่งกันและกันในแบบฉบับของแต่ละอาชีพ

 

“ตัวอย่างเช่น ทำฟาร์มเห็ด ผมก็จะมีบัญชีแยกแยะว่าวัตถุดิบตัวนี้เหมาะสมกับที่เราทำหรือไม่ ราคาสูงไปไหม ควรจะลดต้นทุน และเพิ่มรายรับอย่างไร เพิ่มผลผลิตอย่างไร ก็จะให้แต่ละวงจรประมวลนผลตัวเขาเอง ถ้าเมื่อไหร่สร้างผลกำไรกับเราได้ เราก็ต่อยอดไปในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนที่มาเรียนรู้ มาศึกษาดูงานที่ศูนย์ การเรียนรู้ พร้อมนำองค์ความรู้ทางบัญชีที่เราสอนไปประกอบอาชีพของเขาเองได้ กลายเป็นว่าทุก ๆ อาชีพ ที่ผมทำไม่ว่า ทำนา เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ หรือฟาร์มเห็ด ก็จะมีกระบวนการทำบัญชีครัวเรือน และบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ เข้ามาสู่หมวดหมู่การประกอบอาชีพโดยตรง แล้วขยายผลไปสู่เครือข่าย ผมมองว่าบัญชีนี้ เป็นบัญชีชีวิต ที่ควบคู่กับเราไปตลอด ไม่สามารถจะลาออกได้ ทำให้ชีวิตมีความสุขและยั่งยืน”ครูบัญชีอาสาดีเด่นปี 2565 เผยขั้นตอนการทำบัญชีฟาร์มเพื่อให้รับรู้ค่าใช้จ่ายทั้งระบบที่สอดคล้องกัน”

 

นายอดุลย์ มองว่าการนำองค์ความรู้ทางบัญชีไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจนั้นไม่ได้ขาดทุนอะไร แต่การขาดทุนของเราเป็นกำไรให้คนอื่นนำไปใช้ประโยชน์ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่า ขาดทุนคือกำไร ขณะเดียวกันก็นำเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาสอดแทรกให้ประชาชนได้เข้าใจ จับต้องได้ โดยดูว่าผู้สนใจแต่ละคนเชี่ยวชาญด้านไหน บางคนเก่งเรื่องการประกอบธุรกิจก็จะนำองค์ความรู้แบบจำลองการทำธุรกิจ (BMC Model) เข้ามาสอดแทรกในการประกอบอาชีพ หรือการนำแอปพลิเคชันสมาร์ทมี (Smart Me) ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มาส่งเสริมให้สามารถจดบันทึกข้อมูลบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ ได้บนโทรศัพท์มือถือ Smart Phone ทำให้ได้ทราบถึงภาพรวมของการใช้จ่าย และสามารถวางแผนการใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสม และนำมาปรับใช้ในการประกอบอาชีพของแต่ละคนได้

 
 
 

“แนวคิดของผมจะแตกต่างจากครูบัญชีหลาย ๆ ท่านอย่างหนึ่งก็คือ ก่อนจดบันทึกหรือก่อนซื้ออะไรจะต้องคำนึงถึงปัจจัยก่อนว่ามีผลดี ผลเสียอะไร มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน อย่างไร แล้วเอาปัจจัยเหล่านั้นมาควบคุม แต่ถ้าหากเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยเกินไป หรือเรามีแล้วก็ไม่ซื้อ มันก็จะไม่เกิดบัญชีรายจ่ายในวันนั้น ทำให้เราเข้าใจตัวตนมากขึ้น เป็นภูมิคุ้มกันที่เรียบง่าย และได้ประโยชน์สูงสุด ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าสามารถนำมาปรับใช้ได้ก็จะประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ” นายอดุลย์ วิเชียรชัย เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาบัญชีฟาร์ม ปี 2565 กล่าวย้ำทิ้งท้าย