เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในทุกภาคของประเทศไทย เฝ้าระวังการระบาดของโรคโคนเน่าหัวเน่ามันสำปะหลัง โดยเฉพาะแปลงที่ดินระบายน้ำไม่ดี เนื่องจากในช่วงนี้หลายพื้นที่มีฝนตกติดต่อกัน ความชื้นในอากาศสูง สภาพแวดล้อมเหมาะต่อการระบาดของโรค ดังนั้น ขอให้เกษตรกรสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นมันสำปะหลังแสดงอาการของโรค ให้ดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง หรือสามารถขอคำแนะนำได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Phytophthora spp. / เชื้อรา Fusarium spp.
ลักษณะอาการ
ต้นมันสำปะหลังที่อยู่เหนือดินจะพบว่าใบแสดงอาการเหี่ยวเหลือง โคนต้นเน่าเป็นสีน้ำตาลหรือดำ มันสำปะหลังบางพันธุ์โคนต้นจะมีการสร้างรากค้ำชูตรงรอยแตกของโคนต้น เมื่อถอนขึ้นมาหัวมันสำปะหลังแสดงอาการเน่า ถ้าผ่าหรือหักหัวมันสำปะหลังจะเห็นภายในสีน้ำตาล ในมันสำปะหลังบางพันธุ์มีอาการเน่าที่โคนและส่วนหัวที่อยู่ใต้ดิน โดยที่ส่วนของลำต้นและใบยังคงมีลักษณะปกติ หรือบางพันธุ์ถ้าอาการรุนแรงมันสำปะหลังอาจยืนต้นตายได้
อาการเหี่ยวเหลือง สร้างรากค้ำชูตรงรอยแตกของโคนต้น
หัวมันสำปะหลังแสดงอาการเน่า
แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
- หากพื้นที่ปลูกเป็นดินดาน ควรไถระเบิดชั้นดินดาน และตากดินไว้ อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนปลูก
- แปลงปลูกควรยกร่อง เพื่อไม่ให้น้ำท่วมขัง
- คัดเลือกท่อนพันธุ์จากแหล่งที่ไม่มีการระบาดของโรค
- ก่อนปลูกแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 20 – 50 กรัม หรือฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 50 กรัม โดยเลือกใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร แช่เป็นเวลา 10 นาที
- ควรจัดระยะปลูกให้เหมาะสม เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เหมาะต่อการระบาดของโรค
- หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบต้นที่แสดงอาการของโรค ให้ถอนนำไปทำลายนอกแปลงปลูกแล้วโรยปูนขาว หรือราดด้วยสารเมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 20 – 50 กรัม หรือฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 50 กรัม โดยเลือกใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร ราดบริเวณที่ถอนและโดยรอบห่างออกไปประมาณ 1 เมตร
- หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรเก็บเศษเหง้า และเศษซากมันสำปะหลัง ไปทำลายนอกแปลงปลูก
- ควรทำความสะอาดเครื่องจักรกลการเกษตรที่ใช้ในแปลงที่เป็นโรค เนื่องจากเชื้อสาเหตุโรคอาจติดมากับเครื่องจักรกลการเกษตรนั้น
- ในแปลงที่มีการระบาดของโรครุนแรง ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เช่น อ้อย ข้าวโพด หรือพืชตระกูลถั่วกรณีที่พบการระบาดของโรครุนแรง ควรปฏิบัติดังนี้
- พื้นที่ที่พบต้นแสดงอาการของโรคมากกว่าร้อยละ 50 ควรไถทิ้ง เก็บเศษซากนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วตากดิน
- พื้นที่ที่พบต้นแสดงอาการของโรค ร้อยละ 30 – 50
– มันสำปะหลังอายุ 1- 3 เดือน ควรไถทิ้ง เก็บเศษซากนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วตากดิน
– มันสำปะหลังอายุ 4 -7 เดือน หว่านปูนขาวให้ทั่วแปลง และควรเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตทันที
– มันสำปะหลังอายุ 8 เดือนขึ้นไป ควรเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตทันที
ดาวน์โหลดเอกสาร เตือนการระบาดโรคโคนเน่าหัวเน่ามันสำปะหลัง