นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งเป็นตัวอย่างให้กับชาวนาผู้ปลูกข้าวรายอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี จากผลการดำเนินงานในปัจจุบันซึ่งมีการพัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์อย่างต่อเนื่องได้คุณภาพมาตรฐานสากล เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ จึงได้เข้ามาส่งเสริมการขยายพื้นที่สร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ สร้างกลุ่มต้นแบบในการผลิต “ข้าวอินทรีย์ วิถีเมืองธรรมเกษตร” ที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์จังหวัดอำนาจเจริญที่ว่า “เมืองธรรมเกษตร การเกษตรสร้างมูลค่า ท่องเที่ยวเสริมสร้างสุขภาพ เชื่อมโยงเส้นทางการค้า” เพื่อสร้างโอกาสให้เกษตรกรชาวนาจังหวัดอำนาจเจริญได้มีอาชีพที่มั่นคง และเป็นการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ของจังหวัด ทำให้มีจำนวนสมาชิกและพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี
“เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ ปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 839 ครัวเรือน พื้นที่เกษตรอินทรีย์ 24,554 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ 21 ตำบล 96 หมู่บ้าน สามารถผลิตข้าวเปลือกที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ FAIRRADE, EU, NOP, JAS, และ COFCC ได้ไม่น้อยกว่า 9,800 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 152,234,800 บาทต่อปี และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นจากกระบวนการแปรรูป รวมถึงการตลาด คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 44,197,200 บาทต่อปี สร้างมูลค่าจากพืชหลังนาไม่น้อยกว่าปีละ 3,945,600 บาท เกิดการจ้างงานในชุมชนจำนวน 47 ครัวเรือน คิดเป็นมูลค่า 5,443,000 บาท รวมเป็นมูลค่าที่เกิดจากการดำเนินงานของกลุ่ม/ชุมชนไม่น้อยกว่า 205 ล้านบาทต่อปี” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
ด้านนายวันนา บุญกลม ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า ในอดีตชาวนาในพื้นที่ประสบปัญหาในเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูง มีการใช้สารเคมีจำนวนมาก เกษตรกรผลิตข้าวไม่มีคุณภาพและไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ราคาข้าวไม่มีเสถียรภาพ และขาดอำนาจต่อรอง ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินในครัวเรือน จนในปี 2548 สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองอำนาจเจริญจึงได้จัดทำแผนงานโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ และประสานหน่วยงานภาคีเครือข่ายเข้าให้การช่วยเหลือส่งเสริมเกษตรกรผลิตข้าวอินทรีย์ ต่อมาทางกลุ่มจึงได้เริ่มยื่นตรวจมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากบริษัท BCS ซึ่งเป็นบริษัทตรวจรับรองของประเทศเยอรมนี เป็นจุดเริ่มต้นในการผลิตข้าวอินทรีย์ส่งออกโดยใช้หลักตลาดนำการผลิต และในปี 2552 ได้มีการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนในชื่อ “เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ” เป็นต้นแบบขององค์กรเกษตรกรและชุมชนในการผลิตข้าวอินทรีย์ และเป็นแหล่งศึกษาดูงานที่ครบวงจรให้กับผู้ที่สนใจทั้งภายในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง ส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นของคนในชุมชน สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ และลดปัญหาภาวะหนี้สินที่เคยเกิดขึ้นได้
ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดอำนาจเจริญได้เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาและสนับสนุนการตรวจรับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์ตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ และในปี2562 ได้สนับสนุนโรงเก็บและเครื่องคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ เครื่องคัดแยกหินกรวดในข้าวสาร สนับสนุนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในไร่นา และได้ร่วมกับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอำนาจเจริญ ส่งเสริมการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่ข้าวอินทรีย์ขึ้น มีเครือข่ายสมาชิก จำนวน 11 แปลง และได้รับงบประมาณสนับสนุนตามโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ต่อมาจึงได้จัดตั้งเป็นเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ภายใต้ชื่อ “ศูนย์เรียนรู้ข้าวอินทรีย์เมืองธรรมเกษตร” เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิต แปรรูป และการตลาดแก่เกษตรกร พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เป็นประโยชน์ต่าง ๆ เรื่อยมา