แปลงใหญ่หมากและมะพร้าวบางตีนเป็ดทำกาบหมากเป็นของใช้ครัวเรือนเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์

กรมส่งเสริมการเกษตร สนับสนุนแปลงใหญ่หมากและมะพร้าวตำบลบางตีนเป็ด จ.ฉะเชิงเทรา แปรรูปกาบหมากวัสดุไร้ประโยชน์ให้เกิดมูลค่าเป็นของใช้ในครัวเรือนทั้งจาน ชาม รองเท้า กระเป๋า และผ้ามัดย้อมจากหมากแห้ง ได้รับความสนใจจากลูกค้าจำนวนมาก หลังประสบปัญหาวิกฤติโควิด-19 ทำให้ราคาหมากและมะพร้าวตกต่ำ

เกษตรกรผู้ปลูกหมากและมะพร้าวในพื้นที่ ต.บางตีนเป็ด อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา ประสบปัญหาอย่างหนักจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เมื่อ 2-3 ปีก่อน ทำให้ผลผลิตมีราคาตกต่ำ และไม่สามารถจำหน่ายออกสู่ท้องตลาดได้ หลังก่อนหน้านี้เคยส่งหมากสดและหมากแห้งไปขายยังต่างประเทศ เช่น อินเดีย เมียนมาร์ และไต้หวัน ดังนั้นเมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ทำให้ส่วนราชการต่าง ๆ นำโดยกรมส่งเสริมการเกษตร เข้าให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้ในการบริหารจัดการสวน การเพิ่มผลผลิต การลดต้นทุน การแปรรูป การตลาด และการรวมกลุ่ม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์จากหมาก และมะพร้าว สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้เกษตรกรเช่นเดิม

นายดนัย ปัญจพิทยากุล เกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกหมากในจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวนกว่า 900 ราย พื้นที่ปลูก 4,741 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา คลองเขื่อน และบางคล้า มีผลผลิตกว่า 2,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 80 ล้านบาท ส่วนมะพร้าวมีพื้นที่ปลูกกว่า 6,000 ไร่ มีเกษตรกรผู้ปลูกกว่า 600 ราย สำหรับแปลงใหญ่หมากและมะพร้าวตำบลบางตีนเป็ด มีสมาชิก 32 ราย พื้นที่ปลูกหมากและมะพร้าว 233 ไร่ ผลผลิตจากหมากประมาณ 100 ตันต่อปี และมะพร้าว ประมาณ 10 ตันต่อปี ผลผลิตส่วนใหญ่จะเป็นหมากสด หมากแห้ง มะพร้าวสด และผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้า

การให้การสนับสนุนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องขององค์ความรู้ต่าง ๆ และการรวมกลุ่มให้เข้มแข็ง ภายใต้เป้าหมายสำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วยการลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพและเพิ่มมูลค่า การตลาดและการบริหารจัดการ  เพื่อให้เกษตรกรเกิดอำนาจต่อรองในด้านราคา พร้อมสนับสนุนให้มีการแปรรูปสินค้าในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย รวมถึงช่องทางการตลาดออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น และให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าได้อย่างสะดวก และรวดเร็ว เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกหมากและมะพร้าวมีรายได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกหมากและมะพร้าวตำบลบางตีนเป็ด ถือเป็นการรวมกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ จนเป็นต้นแบบของการเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรกลุ่มอื่น ๆ

ด้านนางสาวจริยา นิยมพานิช เกษตรอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ปี 2563 ทางเกษตรกรประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ จึงเข้าไปส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ เพื่อรวบรวมผลผลิตและสร้างอำนาจต่อรองราคา ตลอดจนการส่งเสริมให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ จนกระทั่งในปี 2566 แปลงใหญ่ได้จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนดำเนินการแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองฉะเชิงเทราได้เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรนำวัตถุดิบที่เหลือใช้ภายในสวนมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายภายใต้แนวทางของ BCG โมเดล ที่มุ่งการสร้างมูลค่า ลดของเสียให้เป็นศูนย์และมีความสมดุลอย่างยั่งยืน เช่น กาบหมากที่เดิมเคยร่วงหล่นอยู่ตามพื้น เกษตรกรได้นำมาอัดขึ้นรูปเป็นจานชามกาบหมากจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่ได้รับความสนใจจากลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบการอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมถึงการนำกาบหมากมาทำกระเป๋าสาน รองเท้า และการนำเศษหมากแห้งมาใช้ทำสีย้อม เป็นผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อม ทั้งเสื้อ ผ้าเช็ดหน้า หมวกและกระเป๋า

นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน สร้างความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอรับรองมาตรฐาน GAP เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ ส่วนจานและชามที่ทำจากกาบหมาก และผ้ามัดย้อมนั้น ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทราแล้ว ส่วนด้านการตลาด นอกจากเกษตรกรจะออกร้านตามงานต่าง ๆ แล้ว ทางกลุ่มยังจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านทางออนไลน์ในเพจเฟซบุ๊ค “Landmark แลนด์หมาก” เพื่อเพิ่มช่องทางให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าได้มากขึ้น

“ผลิตภัณฑ์จากหมากและมะพร้าวถือเป็นจุดเด่นของชาวบางตีนเป็ด เพราะสามารถใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดเป็นมูลค่าได้ นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง และเกษตรกรหลายรายมีความสามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ในการแปรรูปและสร้างผลิตภัณฑ์จากหมากและมะพร้าวให้กับเกษตรกรกลุ่มอื่น ๆ หรือประชาชนที่สนใจทั่วไปได้ ถือเป็นจุดเด่นและเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรผู้ปลูกหมากและมะพร้าวในจังหวัดอื่นได้นำไปเป็นแบบอย่าง ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ทางกลุ่มผลิตขึ้นมาไม่ว่าจะเป็น จานหรือชามกาบหมาก กระเป๋า รองเท้า และผ้ามัดย้อม คาดว่าจะได้รับความนิยมและเป็นที่สนใจจากลูกค้ามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าสายอนุรักษ์ธรรมชาติและสายรักสุขภาพ เพราะผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่มีสารพิษตกค้าง สามารถนำชามและจานหมากมาใส่อาหารรับประทานได้ โดยในอนาคตคาดว่าชุมชนบางตีนเป็นจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา” เกษตรอำเภอฉะเชิงเทรา กล่าว

ขณะที่นายเดชเดชา ชุนรัตน์ ประธานแปลงใหญ่หมากและมะพร้าวตำบลบางตีนเป็ด กล่าวว่า เกษตรกรผู้ปลูกหมากและมะพร้าว ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หมากแห้งที่เคยส่งออกไปขายยังต่างประเทศหยุดชะงัก ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการรวมกลุ่มกันเป็นแปลงใหญ่ เพื่อให้หมากและมะพร้าวเป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเหมือนเดิม โดยเริ่มจากการนำหมากแห้งมาทำเป็นสีย้อมและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ผ้ามัดย้อม เสื้อ หมวก กระเป๋าถือ ถุงผ้า และยังได้นำกาบหมากที่เคยร่วงหล่นตามโคนต้น มาแปรรูปทำเป็นจาน และชามใส่อาหาร นำมาสานเป็นกระเป๋ากาบหมาก และล่าสุดที่เพิ่งถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่เป็นรองเท้ากาบหมาก โดยนำไปออกร้านในงานต่าง ๆ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา สำนักงานพาณิชย์จังหวัดฉะเชิงเทรา และส่วนราชการอื่น ๆ

ปัจจุบันแปลงใหญ่หมากและมะพร้าวตำบลบางตีนเป็ด มีสมาชิก 32 ราย มีสำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา และสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เข้ามาให้ความรู้และส่งเสริมด้านการดูแลแปลง เช่น เข้ามาช่วยตรวจสอบคุณภาพดิน แนะนำการใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมกับดินว่าขาดแร่ธาตุชนิดใด และต้องเติมเข้าไปจำนวนเท่าไหร่ จึงจะทำให้สามารถประหยัดต้นทุนการใช้ปุ๋ยได้ เพราะเป็นการเติมเพียงแร่ธาตุที่ขาดไป และยังมีการอบรมการทำปุ๋ยหมัก และปุ๋ยชีวภาพให้ด้วย ถือเป็นความรู้ที่ช่วยเกษตรกรได้มาก เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องการใช้ปุ๋ย ทำให้สูญเสียเงินจำนวนมากกับการซื้อปุ๋ย เมื่อเรารู้จักการให้ปุ๋ย และผลิตปุ๋ยได้เอง ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก

นอกจากนี้ยังมีสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ได้เข้ามาช่วยเหลือในการให้ยืมเครื่องขึ้นรูปภาชนะในการปั้มขึ้นรูปจานชามที่ทำด้วยกาบหมากในระยะเริ่มต้น ส่วนทาง อบต. บางตีนเป็ด ได้ประสานศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ให้มาช่วยอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการมัดย้อม ซึ่งในอนาคตทาง อบต.ได้เตรียมจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุนในการซื้อเครื่องปั้มขึ้นรูปจานและชามกาบหมาก และจะก่อสร้างโรงเรือนให้เป็นที่ทำการของกลุ่มอย่างถาวรด้วย ขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ ได้เข้ามาสอนเกี่ยวกับวิธีการทำสีจากหมากแห้งให้ออกมาตรงตามต้องการและติดเนื้อผ้าได้อย่างยาวนาน

“สำหรับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มประกอบด้วย หมากสด หมากแห้ง จานและชามกาบหมาก ร้องเท้ากาบหมาก กระเป๋า เครื่องจักรสานต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์มัดย้อมจากสีหมาก มะพร้าวอ่อนและมะพร้าวแก่ มะพร้าวแก้ว น้ำมะพร้าวปั่น น้ำมะพร้าวสด และต้นพันธุ์หมากและมะพร้าว โดยได้ออกร้านจำหน่ายในงานต่าง ๆ ได้รับความสนใจจากลูกค้าพอสมควร ล่าสุดจึงได้วางจำหน่ายทางออนไลน์ ในเพจเฟซบุ๊ค เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและประชาสัมพันธ์สินค้าให้รู้จักเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น และหลังจากเปิดขายในเพจ เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า โดยในอนาคตคาดหวังว่าผลิตภัณฑ์หมากและมะพร้าว จะได้รับความนิยมจากลูกค้าภายในประเทศและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในปัจจุบัน ส่วนเรื่องรายได้ของสมาชิกในกลุ่มแม้จะไม่ได้มากเหมือนก่อนสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็พออยู่ได้ โดยคาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้นเมื่อสื่อต่าง ๆ ให้ความสนใจ” ประธานแปลงใหญ่หมากและมะพร้าวตำบลบางตีนเป็ด กล่าว