เปิดเอกสารกฤษฎีกา ตีความปมคำสั่งปลด “บิ๊กโจ๊ก” ชี้ต้องนำความกราบบังคมทูล

จากกรณีสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบข้อกฎหมายเกี่ยวกับคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ออกจากราชการไว้ก่อน ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่​

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงนามในความเห็น เรื่องเสร็จที่ 637/2567 บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤฎีกา เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชไว้ก่อน

กรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) มี ความเห็นว่า กรณีตามข้อหาดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์แล้ว ตามมาตรา 105 มาตรา 108 มาตรา119 และมาตรา 179 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ในวันเดียวกันกับที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจรายดังกล่าวออกจากราชการไว้ก่อน นอกจากนี้ยังปรากฎข้อเท็จจริงว่า พล.อ.สุรเชษฐ์ ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนต่อคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมข้าราชการตำรวจแล้ว

เมื่อพิจารณาข้อหารือและข้อเท็จจริงเพิ่มเติมดังกล่าว เห็นว่า มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งให้พล.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน นายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันออกจากราชการไว้ก่อนหรือไม่ และจะต้องดำเนินการเมื่อใด

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่2) เห็นว่า มาตรา 131 วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 บัญญัติให้การสั่งให้ข้าราชการตำรวจซึ่งมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา ออกจากราชการไว้ก่อน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร. ซึ่งปัจจุบัน ก.ตร. ยังไม่ได้ออกกฎ ก.ตร.

จึงเห็นว่า ข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนฯ มิได้ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติพ.ศ. 2565 ดังนั้น ในการสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ นายกรัฐมนตรีจะต้องนำความกราบบังคับทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติรายดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันออกจากราชการไว้ก่อน

สำหรับกรอบระยะเวลาที่จะต้องนำความกราบบังคมทูลฯ เมื่อพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ไม่ได้บัญญัติระยะเวลาที่จะต้องดำเนินการในกรณีนี้ไว้ จึงเป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องพิจารณาดำเนินการด้วยความรอบคอบภายในระยะเวลาอันเหมาะสมตามควรแก่กรณีต่อไป

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) มีข้อสังเกตว่า ในการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจรายใดพ้นจากตำแหน่งนั้น โดยที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีหน้าที่ต้องตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของการสั่งให้ข้าราชการรายดังกล่าวออกจากราชการไว้ก่อนอย่างรอบคอบให้เป็นที่ยุติเสียก่อน

ดังนั้น กรณีจึงเห็นได้ว่าการสั่งให้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน หากเป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้นย่อมจะทำให้การพิจารณาเหตุแห่งการกระทบสิทธิของผู้นั้นและความจำเป็นที่จะต้องสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการไว้ก่อนชอบด้วยกระบวนการตามกฎหมายและเป็นธรรมแก่ผู้ถูกสอบสวน และการนำความกราบบังคมทูลตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ย่อมเป็นไปด้วยความชอบธรรม