พี่สาว “เสี่ยชูวงษ์” ยื่นกรมราชทัณฑ์ ให้ประหารชีวิต “บรรยิน” ตามคำพิพากษาศาลฎีกา

วันนี้ (1 ส.ค 67) ที่กรมราชทัณฑ์ นางวันเพ็ญ ธนธรรมสิริ พี่สาวของนายชูวงษ์ แช่ตั้ง นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้เดินทางมายื่นหนังสือ ถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อขอให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่สั่งประหารชีวิตสถานเดียว พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต รมช.พาณิชย์ และอดีต ส.ส.นครสวรรค์ หลายสมัย ที่ก่อเหตุฆาตกรรม นายชูวงษ์ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2558 โดยมีนายสมภพ สังคุดแก้ว รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้รับหนังสือคำร้อง

นางวันเพ็ญ กล่าวว่า ศาลฎีกามีคำพิพากษาตัดสิน ประหารชีวิตนักโทษคนนี้ เป็นนักโทษที่มีคดีประหารชีวิตทั้งสองคดี ในส่วนของคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2567 ในคดีฆาตกรรม นายชูวงษ์ เพื่อปิดบังซ่อนเร้น การโอนหุ้น และคดีอุ้มฆ่าพี่ชายของผู้พิพากษา ซึ่งผู้พิพากษา ทำคดีเกี่ยวกับการโอนหุ้น ของนายชูวงษ์ จะเห็นว่า คดีนี้ พ.ต.ท.บรรยิน เป็น นักโทษ เด็ดขาด ที่ศาลฎีกาสั่งประหารชีวิตติดกัน และยังมีคดีทั้งหมด ที่ตัดสินแล้ว 5 คดี เป็นนักโทษที่ทำผิดซ้ำซาก และก่อเหตุร้ายแรง มีคดีโกงหุ้นอีก 8 คดี ที่ ปปง. เกี่ยวกับฟอกเงิน อีก 20 ปี และในช่วงที่อยู่ในเรือนจำ ยังก่อเหตุแหกคุก และขู่อุ้มภรรยาผู้บัญชาการเรือนจำ ซึ่งในคดีแหกคุก ศาลได้ตัดสินลงโทษ จำคุกอีก 3 ปี รวมโทษในคดีอาญา ทั้งหมด 5 คดี จึงอยากทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ดูว่านักโทษคนนี้ควรได้รับโทษตามคำพิพากษาของศาลได้แล้ว

นางวันเพ็ญ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ในช่วงเวลา 10 ปี มีนักโทษประหารที่ถูกประหารจริง เพียงแค่ 1 คน คือ เมื่อปี 2561 นอกนั้นก็ไม่เคยมีใครได้รับการประหารจริง แม้ว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษา ประหารชีวิตไปกี่คดีก็ตาม เราก็ไม่เห็นนักโทษที่ถูกประหารจริง จะเห็นก็แต่นักโทษประหารที่ ผ่านมา 10 ปี ก็ออกมาหมดแล้ว จึงมีความกังวลว่า นักโทษชายรายนี้ เป็นนักโทษที่ก่อคดีร้ายแรง ก่อคดีที่อุกอาจ อุ้มฆ่าพี่ชายของผู้พิพากษา ฉะนั้นก็อยากจะให้กรมราชทัณฑ์ ได้ยึดถือคำพิพากษาของศาลฏีกาถึงที่สุด ขอให้ประหารชีวิตนักโทษรายนี้

ด้านโฆษกกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรณีของผู้ต้องขังที่ได้รับโทษ คำพิพากษาจากศาลว่าประหารชีวิต ตามขั้นตอนในทางปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ จะให้ผู้ต้องขัง ได้ยื่นทูลเกล้าถวายฎีกา ตามสิทธิ์ของผู้ต้องขังภายใน 60 วัน ทางกรมราชทัณฑ์ จะรวบรวมเอกสารทั้งหมดส่ง ไปตามความต้องการของผู้ต้องขัง ทั้งนี้ในส่วนของนักโทษเด็ดขาด ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาตัดสินประหารชีวิต มีอยู่ประมาณกว่า 300 คน ซึ่งทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะยื่นทูลเกล้าถวายฎีกา ตามกรอบของกฎหมาย