บช.ก. ส่งสำนวนคดี “ดิไอคอน” ให้ DSI ชุดแรก 18 ลัง 156 แฟ้ม

วันนี้ (28 ต.ค.67) ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกล่องสำนวนคดี บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด จำนวน 18 ลัง โดยเป็นสำนวนคดีที่ผู้เสียหายที่แจ้งความ ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. ถึงวันที่ 16 ต.ค. 2567 ไปส่งมอบให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อดำเนินการรับเป็นคดีพิเศษ และยังมีสำนวนบางส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการไม่แล้วเสร็จ และเจ้าหน้าที่จะทยอยส่งสำนวนที่เหลือให้ในภายหลัง

ขณะที่ พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบช.ก. กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า วันนี้ได้มีการส่งมอบสำนวนของคดีดิไอคอน พร้อมด้วยพยานหลักฐานที่รวบรวมได้ทั้งหมด ให้กับ DSI เบื้องต้นมีสำนวนที่ส่งในวันนี้ทั้งหมด 18 ลัง 156 แฟ้ม ที่เป็นผู้เสียหายที่มาแจ้งความระหว่างวันที่ 10 – 16 ต.ค. ประกอบด้วยผู้เสียหายลำดับที่ 1-325 ซึ่งบางส่วนจะทยอยตามไปเรื่อยๆ โดย บช.ก. รับผู้เสียหายไว้ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3,400 กว่าราย ไม่รวมพยานบุคคลที่ทำการสอบสวนไว้อีกหลายปาก

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าหากสำนวนถูกส่งไปที่ DSI ไปแล้ว ทางบช.ก. จะยังคงรับแจ้งความจากผู้เสียหายอยู่หรือไม่ พล.ต.ต.สุวัฒน์ กล่าวว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. ได้มอบนโยบายไว้แล้วว่า ในระหว่างนี้ผู้เสียหายสามารถที่จะร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทั่วประเทศเหมือนเดิม หรือสามารถไปแจ้งความที่ DSI ก็ได้ ซึ่งทางตำรวจยังทำเหมือนเดิมจนกว่าทาง DSI จะรับเป็นคดีพิเศษ ซึ่งจากนั้นแล้วก็ต้องดูว่าทาง DSI จะประสานให้ทางบช.ก.ดำเนินการอะไรอีกหรือไม่ หากบช.ก. ดำเนินการได้ก็จะดำเนินการให้

ถามต่อว่าหาก DSI รับสำนวนไปแล้ว และยังเห็นช่องโหว่ของสำนวน ทางบช.ก. จะส่งทีมไปช่วยทำคดีกับทาง DSI หรือไม่ พล.ต.ต.สุวัฒน์ ระบุว่า ตามกฎหมาย หาก DSI รับเป็นคดีพิเศษแล้ว อำนาจทั้งหมดก็จะอยู่ที่ DSI ดำเนินการ แต่ในเรื่องที่ว่าจะมีช่องโหว่ของสำนวนนั้นไม่น่าจะมี เพราะตอนนี้ยังอยู่ในชั้นสอบสวนที่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยที่ส่งคดีไปก็เพื่อที่จะให้ DSI ดำเนินการต่อให้สมบูรณ์

ในส่วนที่ทางทนาย 18 บอสได้มีการแจ้งความในส่วนของผู้เสียหายให้ตกเป็นผู้ต้องหาตามกัน ตรงนี้สำนวนจะตัดเป็นอีกเลขคดีหนึ่งให้ DSI ทำหรือไม่ พล.ต.ต.สุวัฒน์ กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิ์ของผู้ต้องหาในการแจ้งความร้องทุกข์ แต่เราก็ต้องมาพิจารณากันว่า สิ่งที่ร้องทุกข์อยู่ในอำนาจการสอบสวนของตำรวจหรือไม่ หากอยู่ในอำนาจการสอบสวนของเราก็ดำเนินการไป หากเข้าคดีพิเศษ ก็จะส่งให้ DSI เป็นผู้ดำเนินการ

สำหรับการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมก็อยู่ที่พยานหลักฐานที่ตอนนี้ตำรวจรวบรวมหลักฐานแล้ว หากพบว่ามีฐานความผิดอื่นด้วยก็จะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็ใช้หลักเดียวกันหากสอบสวนแล้วพบว่ามีความผิดฐานอื่นอีกก็จะดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมได้

ถามต่อว่า DSI จะสามารถทำสำนวนทันการฝากขัง 4 ครั้ง หรือไม่ พล.ต.ต.สุวัฒน์ กล่าวว่า หากมีการแจ้งข้อหา พ.ร.ก. กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน จะเพิ่มเป็นฝากขัง 7 ครั้ง 84 วัน ก็จะมีเวลาทำสำนวนเพิ่มขึ้น โดยเป็นการรวมเป็นสำนวนเดียวกัน เพราะตอนนี้มีการกระทำผิดกฏหมายหลายบท จากเดิมที่เรามีพยานหลักฐานเบื้องต้นที่ไปขออนุมัติหมายจับ ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และพ.ร.บ.คอมฯ แต่สอบสวนไปแล้วพบว่ามี พ.ร.ก. กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน ก็อยู่ในเรื่องเดียวกัน