กลุ่มผู้เสียหายนับ 100 คน จากทั่วประเทศ รวมตัวกับแต่งชุดสีดำ ถือป้ายประท้วง ขอความเป็นไทยด้านหน้า DSI ก่อนยื่นหนังสือร้องเรียนให้ช่วยตรวจสอบธุรกิจแฟรนไชส์ร้านโชห่วยของบริษัทชื่อดัง หลังมีการโฆษณาชวนเชื่อให้ลงทุนเปิดร้าน สุดท้ายทุนจมหาย เป็นหนี้สิน ยิ่งทำธุรกิจยิ่งเข้าเนื้อจนต้องควักเงินจ่ายค่าสินค้าเอง บางครั้งสินค้าในสต็อกก็สูญหายแบบไม่ทราบสาเหตุ ถึงขั้นบางคนถูกฟ้องข้อหายักยอกทรัพย์ทั้งที่ไม่ได้กระทำความผิดด้วย
วันนี้ (28 พ.ย.67) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI กลุ่มผู้เสียหายกว่า 100 คน เข้าร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ นำโดยนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม พร้อมระบุว่า มีผู้เสียหายจากการลงทุนร้านค้าแฟรนไชส์โชห่วยที่เข้ามาร้องเรียนกับตัวเอง 270 คน จาก 2000 ร้านค้าทั่วประเทศ โดยก่อนหน้านี้ทางกลุ่มผู้เสียหายได้ร้องเรียนหลายหน่วยงาน แต่ยังไม่มีความคืบหน้า มักปัดไปเป็นเรื่องการผิดสัญญา ซึ่งส่วนตัวมองว่าเมื่อกระทำผิดสัญญาจำนวนมากจากคดีทางแพ่งอาจเป็นการกระทำความผิดสัญญาทางอาญาได้เช่นเดียวกันจึงอยากขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมสอบสวนคดีพิเศษช่วยตรวจสอบเรื่องนี้
หนึ่งในผู้เสียหายที่ถูกบริษัทดำเนินคดีฐานยักยอกทรัพย์เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้มีธุรกิจร้านขายของโชห่วยอยู่แล้ว วันหนึ่งมีพนักงานของบริษัทดังกล่าวนำใบปลิวโฆษณามาแจกให้ทางร้าน เห็นสโลแกนดีว่า ร้านโชว์ห่วยสามารถทำให้รวยได้ จึงตัดสินใจลงทุนทำธุรกิจด้วย โดยจ่ายเงินประกันสินค้าเสียหายจำนวน 200,000 บาท แต่กลับกลายเป็นว่ายิ่งทำธุรกิจยิ่งหมดตัว สินค้าไม่ตอบโจทย์ชุมชน รวมถึงสต๊อกสินค้าหายแบบไม่ทราบสาเหตุ เมื่อปรึกษาพนักงานตัวแทนบริษัทที่ช่วยดูแลร้านก็ผักภาระอ้างว่าคนในบ้านเป็นคนเอาสินค้าไปใช้เอง เมื่อแจ้งตรงไปทางบริษัทก็ไม่ได้แก้ไขใดใด จึงตัดสินใจยกเลิกสัญญา ซึ่งตอนทำสัญญาทางบริษัทไม่ได้แจ้งว่าหากยกเลิกสัญญาจะถูกยึดเงินประกันใดๆ ปรากฏว่าเมื่อมีการนับสต๊อกสินค้าทางบริษัทกลับแจ้งว่าสินค้าไม่ครบต้องจ่ายเงินเพิ่มจำนวน 160,000 บาทโดยบังคับให้ตัวเองเซ็นหนังสือยอมรับ อ้างว่าจะหักจากเงินประกันที่เคยจ่ายก่อนหน้านี้ ตัวเองไม่ยินยอมแจ้งเรื่องไปทางบริษัทแต่ก็ไม่ได้รับคำตอบจนท้ายที่สุดหมายจากตำรวจว่าถูกดำเนินคดีอาญาฐานยักยอกทรัพย์ โดยทางบริษัทส่งตัวแทนทนายมาเจรจาให้ยอมรับสภาพหนี้
ขณะที่ผู้เสียหายอีกคน บอกว่า ตัวเองทำธุรกิจโชห่วยอยู่ในกรุงเทพ เห็นโฆษณาผ่าน Facebook มองว่าน่าสนใจ จึงเข้าไปฟังบรรยายธุรกิจที่บริษัทและตัดสินใจร่วมลงทุน เป็นสาขาแรกที่เปิดในกรุงเทพ ซึ่งช่วงแรกทางบริษัทบอกว่า จะไม่มีร้านเปิดทับซ้อนกัน และหากแนะนำโครงการนี้ให้คนมาร่วมลงทุนก็จะได้รับจี้ทองคำมูลค่า 10,000 บาท เธอจึงแนะนำเพื่อนให้มาร่วมลงทุนด้วย
แต่ปรากฏว่าเมื่อทำธุรกิจผ่านไปประมาณแปดเดือนกลับขายสินค้าไม่ดี และยังมีสาขาอื่นๆ มาเปิดอยู่รอบพื้นที่ชุมชน ทำให้มองว่าการแข่งขันสูงกว่าปริมาณคนซื้อ ส่งผลให้ขายสินค้าได้ยากขึ้น รวมถึงทางบริษัทมีกฎว่าจะต้องสรุปยอดส่งเงินให้กับบริษัททุกสามทุ่มของทุกวัน หากส่งช้าถูกปรับ 2,000บาท ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ของเธอเป็นลูกค้าสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เมื่อซื้อของจะมีเงินโอนเข้าวันถัดไป ทำให้ตัวเองต้องสำรองจ่ายให้บริษัทไปก่อน และรอรับเงินกำไรจากบริษัท 85% ทุกเดือน แต่ท้ายที่สุด พบว่าเงินที่ได้ไม่สอดรับกับเงินที่ลงทุนไปก่อนหน้านี้ ทำให้ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งเรื่องค่าก่อสร้างที่กู้ยืมเงินมาทำร้านกว่า 500,000 บาท เงินประกันค่าสินค้าสูญหายอีก 200,000 บาท ดังนั้นจึงตัดสินใจนำทองคำมูลค่า 35 บาทไปจำนำ เพื่อให้ธุรกิจร้านโชห่วยดินหน้าต่อ ส่วนธุรกิจแฟรนไชส์โชห่วยก็ยกเลิกสัญญาและถูกยึดเงินประกันสินค้าไป จึงอยากให้ทางบริษัทคืนเงินส่วนนี้เพราะจะได้นำมาเป็นทุนทำธุรกิจต่อ
ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ DSI รับเรื่องไว้ และเตรียมเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป