อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พบอาหารเส้นในเกาหลีใต้เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการบริโภคบะหมี่กึงสำเร็จรูป เป็นอันดับ 2 ของโลก ชี้เป็นโอกาสสินค้าไทยที่จะขยายตลาด ทั้งเส้นผัดไทย วุ้นเส้น และมาม่า แนะควรเป็นสินค้าพร้อมปรุง
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงโอกาสในการขยายตลาดสินค้าอาหารเส้นของไทยสู่ตลาดเกาหลีใต้ว่า เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่มีการบริโภคอาหารเส้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีการบริโภคต่อคนเป็นอันดับที่ 2 ของโลก และด้วยกระแสการรักสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้อาหารที่ทำจากพืชที่ได้รับความสนใจ และนำมาทำเป็นอาหารเส้นมากขึ้น
ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของผู้ส่งออกไทย ที่ต้องการขยายตลาด หรือส่งออกอาหารเส้นมายังเกาหลีใต้ เพราะตลาดมีความต้องการสูง ที่ผ่านมามีอาหารเส้นนำเข้า และมีวางจำหน่ายอยู่ที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำของเกาหลีอยู่แล้ว เช่น เส้นผัดไทย และวุ้นเส้น ส่วนของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือมาม่า มีการจำหน่ายในช่องทางออน์ไลน์ ที่สำคัญ เมนูอาหารเส้นของไทยหลายชนิดเป็นที่รู้จักในวงกว้างของผู้บริโภคเกาหลี แต่ถ้ามีการพัฒนาสินค้าที่สามารถปรุงได้ง่าย ปรับรสชาติให้เหมาะสม เพิ่มปริมาณ การลดความเผ็ดหรือความเข้มข้นของเครื่องปรุงรสลง สร้างสินค้าให้มีความหรูหราและมีโภชนาการทางอาหารสูง ก็จะสามารถขยายโอกาสการค้าในเกาหลีได้ดียิ่งขึ้น
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวอีกว่า สำหรับช่องทางการกระจายและจำหน่ายสินค้าอาหารเส้น (ยกเว้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) ในปี 2566 พบว่าร้านค้าปลีกมีการจำหน่ายอาหารเส้นมากที่สุด ได้แก่ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้อยละ 30.3 ตามด้วยซูเปอร์มาร์เกต ร้อยละ 22.6 ร้านค้าย่อยของซูเปอร์มาร์เกต ร้อยละ 22.4 และร้านสะดวกซื้อ ร้อยละ 16.1 และการค้าปลีกของอาหารเส้นที่มีการจำหน่ายมากที่สุด ได้แก่ อุด้ง ร้อยละ 28.8 ตามด้วย บะหมี่เย็น ร้อยละ 20.8 บะหมี่เกาหลีหรือ Kalguksu ร้อยละ 15.2 และพาสต้า ร้อยละ 7.7 ส่วนการค้าปลีกสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (แบบซองและถ้วย) มากที่สุด ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ ร้อยละ 29.1 ตามด้วย ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้อยละ 23.0 ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้อยละ 21.7 และร้านค้าย่อยของซูเปอร์มาร์เกต ร้อยละ 15.7
อุตสาหกรรมอาหารเส้นในเกาหลีใต้ ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการจะขยายตลาดส่งออกไปยังเกาหลีใต้ สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169