มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ จับมือ ‘IBM Thailand’ ทำ MOU ดำเนินโครงการ “Thammasat-IBM SkillsBuild” เปิดโอกาสให้ นศ. เพิ่มความรู้ – ทักษะจำเป็นด้านเทคโนโลยี ผ่านหลักสูตรออนไลน์ 4 กลุ่มวิชาหลัก ‘Data Science – AI – Security – Cloud’ จากบริษัทชั้นนำด้าน IT ระดับโลก
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการดำเนินโครงการ “Thammasat-IBM SkillsBuild” เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีได้รับองค์ความรู้แบบข้ามศาสตร์ พร้อมเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อโลกปัจจุบัน และการประกอบอาชีพในอนาคต โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สำหรับการลงนามดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้แบบไร้ขีดจำกัดและ
ไร้พรมแดนให้กับนักศึกษา ผ่านการเรียนรู้ในหลักสูตรออนไลน์ของบริษัทชั้นนำด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ระดับโลกอย่าง ไอบีเอ็มฯ (IBM E-learning Courses) ที่ประกอบไปด้วย 4 กลุ่มวิชาหลัก ได้แก่ Data Science, Artificial Intelligence (AI), Security และ Cloud
ศ.ดร.นพ.รัฐกร วิไลชนม์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ธรรมศาสตร์เชื่อว่าการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจะเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญให้นักศึกษาสามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิต และประกอบอาชีพได้อย่างมีคุณภาพในอนาคต อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดการพัฒนาขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้าต่อไปได้ จึงได้ร่วมมือกับบริษัท ไอบีเอ็มฯ ในการจัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น
ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นแห่งแรกที่ทำเรื่อง Credit Bank กับ บริษัท ไอบีเอ็มฯ
ศ.ดร.นพ.รัฐกร กล่าวต่อไปว่า โดยหลังจากมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงในวันที่ 31 ม.ค. 2567 แล้วทาง มธ. จะเปิดระบบให้นักศึกษาสามารถเรียนหลักสูตรดังกล่าวได้ทันทีผ่านทางเว็บไซต์ของธรรมศาสตร์ และเว็บไซต์ของไอบีเอ็ม ซึ่งในแต่ละกลุ่มวิชาจะแบ่งความรู้ออกเป็น 3 ระดับ เริ่มตั้งแต่ความรู้ระดับพื้นฐาน
ระดับปานกลาง และระดับสูง เมื่อศึกษาจบในแต่ละวิชาแล้ว นักศึกษาจะได้รับ ประกาศนียบัตร
(E-Certification) และสามารถนำผลลัพธ์ที่ได้จากการเรียนรู้มาเทียบโอนหน่วยกิตจากการศึกษาครั้งนี้ได้ด้วย ซึ่งสามารถเลือกเรียนเป็นรายวิชาเลือกเสรี
“นอกจากสามารถทำให้การศึกษาเกิดขึ้นทุกที่ทุกเวลาแล้ว ขณะเดียวกันเราก็มั่นใจว่าหลักสูตรที่ มธ. กับ ไอบีเอ็มได้ร่วมกันจัดทำนั้น มีการวัดผลที่มีประสิทธิภาพ และสามารถประเมินคุณภาพของนักศึกษา
ได้เป็นอย่างดี ทำให้การเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ไม่ต่างจากการเรียนในชั้นเรียน”
ด้าน รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับโครงการความร่วมมือกับไอบีเอ็มในครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้นักศึกษา หรือนักเรียนในชั้นระดับมัธยมที่สนใจเข้ามาเรียน และสอบผ่านการประเมิน สามารถสะสมหน่วยกิตไว้ได้
เมื่อสมัครเข้ามาเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ก็สามารถโอนหน่วยกิตที่สะสมไว้เข้ามาในหลักสูตรได้ สิ่งเหล่านี้เป็น Digital literacy ที่สำคัญ ถือว่าเป็น 1 ในทักษะ ที่คนจะประสบความสำเร็จได้ สถาบันการศึกษา
ต้องปรับตัวให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงในอนาคต และตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ในการช่วยพัฒนาคน
ให้กับประเทศ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยจะทำให้ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัย World Class University for the People ที่เปิดกว้างให้กับประชาชน
ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถาบันการศึกษาแรก ๆ ของประเทศไทย
ที่ให้ความสำคัญการเรียนการสอนนอกห้องเรียน ตลอดจนการเรียนรู้ที่ไม่ต้องอยู่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น และ
ได้ร่วมกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ SkillLane สถาบันเศรษฐกิจดิจิทัล หรือล่าสุดกับทางบริษัท ไอบีเอ็มฯ ในการจัดทำหลักสูตรออนไลน์
เพื่อเพิ่มช่องทางในการ Upskill-Reskill ให้กับทั้งนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็เชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จในด้านนั้น ๆ อยู่แล้ว ทำให้องค์ความรู้ที่ได้สามารถนำไปใช้ได้จริง
“นอกจากนี้การเรียนการสอนในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยต้องไม่ได้มีหน้าที่ให้ความรู้แต่เพียงนักศึกษาเท่านั้น แต่ต้องเป็นพื้นที่การเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนทุกช่วงวัย ซึ่งหลักสูตร E-learning ที่ มธ. ได้ไปร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ สามารถเปิดให้คนทุกคนเข้าถึงได้ พร้อมระบบ Credit bank ที่สามารถเก็บหน่วยกิต
เพื่อเทียบโอนได้เมื่อเข้ามาเรียนใน มธ.” รศ.ดร.พิภพ กล่าว
ขณะที่ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า ภารกิจที่ มธ.
ทำมาโดยตลอดวางอยู่บนการทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในข้อที่ 4 เรื่องการสร้างหลักประกันให้ทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย
รศ.เกศินี กล่าวอีกว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ และการทลายกำแพงในการเข้าถึงความรู้นอกห้องเรียนจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับทั้งมหาวิทยาลัยในไทยและต่างประเทศ ตลอดจนช่วยให้การพัฒนาระบบการเรียน
การสอนมีความเข้มแข็งมากขึ้น ทำให้การผลิตนักศึกษา ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศมีประสิทธิภาพ
ตอบโจทย์การทำงานในอนาคตภายใต้การใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า
“นี่เป็นอีกหนึ่งครั้งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นธรรมศาสตร์ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำ
ของประเทศ ที่ได้นำจุดแข็งด้านเทคโนโลยี องค์ความรู้ การวิจัย ไปสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทางวิชาการระดับนานาชาติ เพื่อนำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน” อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวทิ้งท้าย