“ตะคริว”สัญญาณเตือนของสุขภาพ

ตะคริว เป็น อาการที่เกิดจากความผิดปกติของระบบเซลล์กล้ามเนื้อ ซึ่งมีหลายสาเหตุด้วยกัน โดยลักษณะของตะคริว เป็นการหดตัวของกล้ามเนื้อและมีการเกร็งค้างอยู่ อาจเป็นเพียงไม่กี่วินาทีหรืออาจนานถึง 10 นาที ก็เป็นได้ โดยปกติการหดตัวของกล้ามเนื้อจะต้องมีการคลายตัวตามมา หากไม่มีการคลายตัวกล้ามเนื้อจะขาดเลือดและมีการคั่งของเสีย ทำให้เกิดความเจ็บปวดมาก ตะคริวมักมีอาการในช่วงเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่ ช่วงที่อากาศเย็นมากกว่าปกติหรือใช้งานกล้ามเนื้อต่อเนื่องนานๆ

สาเหตุการเป็นตะคริวเป็นจากระบบกล้ามเนื้อโดยตรง และอาจเป็นผลข้างเคียงจากสาเหตุบางประการ ดังต่อไปนี้

  • เกิดจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ จากการใช้งานมากเกินไปแล้วสะสมนานเข้าจนแสดงอาการเป็นตะคริวขึ้นมา เช่นผู้ที่ต้องเดินมาก เล่นกีฬาที่ต้องเดินหรือวิ่งต่อเนื่อง การใส่ส้นสูง ฯลฯ กิจวัตรเหล่านี้จะทำให้กล้ามเนื้อน่องต้องทำงานหนัก กล้ามเนื้อเกร็งตัวเรื่อยๆ จนทำให้แสดงอาการ
  • การไหลเวียนของเลือดไม่ดี กลุ่มนี้จะตรงกันข้ามกับข้อแรก คือใช้กล้ามเนื้อน้อยเกินไปแล้วเกิดการสะสมของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญของเซลล์กล้ามเนื้อจนทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัว มักเจอในกลุ่มคนที่ต้องนั่งห้อยขานานๆต่อเนื่อง การเดินทางที่ต้องนั่งนานหลายชั่วโมง ฯลฯ ปกติของเสียต่างๆจะถูกถ่ายเทออกจากเซลล์ด้วยหลอดเลือดดำซึ่งไม่สามารถหดตัวบีบไล่เลือดได้เหมือนหลอดเลือดแดง แต่ต้องอาศัยการทำงานของกล้ามเนื้อในการหดตัวจากการเคลื่อนไหว เพื่อถ่ายเทของเสียต่างๆไปขับทิ้ง กลุ่มคนที่ไม่ได้ขยับตัวหรือนั่งห้อยขาต่อเนื่องก็มักจะเริ่มจากเมื่อยน่อง น่องบวมๆ เป่งๆ และจะยิ่งเป็นหนักในช่วงเย็นๆ สะสมไปเรื่อยๆ จนทำให้เกิดอาการตะคริวในที่สุด
  • เกิดจากการจำกัดการไหลเวียนของเส้นประสาท จากรากประสาทที่ออกมาจากแนวกระดูกสันหลังถูกรบกวนจากกระดูกที่ผิดรูป ทำให้การไหลเวียนของระบบประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อน่องถูกจำกัด หรือจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อบีบรัดเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อน่อง จนทำให้เกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อน่องก็เป็นได้ และหากมีการเกร็งตัวเรื้อรัง กล้ามเนื้อไม่คลายตัวจะเกิดการคั่งค้างของกรดแล็กติค (Lactic acid) ซึ่งเป็นของเสียอยู่รอบเซลล์กล้ามเนื้อ เมื่อสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจทำให้เกิดเป็นตะคริวได้
  • เกิดจากความไม่สมดุลของเกลือแร่บางชนิดในร่างกาย คือแคลเซี่ยมและแมกนีเซี่ยม เกลือแร่สองชนิดนี้โดยปกติต้องมีอัตราการดูดซึมที่สมดุลกันคือ 2:1 ส่วน หน้าที่สำคัญของแร่ธาตุ 2 ชนิด นี้จะทำให้เกิดกลไกลการหดตัว-คลายตัว ของกล้ามเนื้อ โดยแคลเซี่ยมจะเป็นสารตั้งต้นให้เซลล์กล้ามเนื้อหดตัวในขณะที่กล้ามเนื้อหดตัวแคลเซี่ยมจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆถึงจุดหนึ่งแมกนีเซี่ยมจะถูกดูดซึมเข้าเซลล์กล้ามเนื้อ เพื่อให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อแต่หากมีความไม่สมดุลของการดูดซึมสารทั้งสองดังกล่าวก็จะทำให้เกิดเป็นตะคริวได้
  • การทานยาบางชนิดจะมีผลต่อการดูดซึมของแร่ธาตุในร่างกาย ซึ่งผลข้างเคียงอาจจะทำให้เป็นตะคริวได้
  • การตั้งครรภ์ การดูดซึมแร่ธาตุต่างๆของร่างกายจะเกิดขึ้นมาก หากมีความไม่สมดุลก็อาจทำให้เป็นตะคริวได้
  • ท้องเสียรุนแรง หรือเสียเหงื่อมากๆ ทำให้แร่ธาตุในร่างกายขาดสมดุลจะเห็นว่าสาเหตุมากกว่าครึ่งของการเป็นตะคริว มาจากความไม่สมดุลของระบบกระดูกกล้ามเนื้อ ทั้งตัวกล้ามเนื้อเอง การไหลเวียนเลือด การไหลเวียนของเส้นประสาท จะส่งผลให้เป็นตะคริวได้ ผู้ที่เคยเป็นอาจสังเกตได้ชัดเจนว่า ก่อนที่จะรุนแรงถึงขั้นเป็นตะคริว ร่างกายมักส่งสัญญาณเตือนก่อนเสมอ อาจแสดงอาการเมื่อยน่องบ่อยๆ น่องหรือขาบวมๆ เป่งๆ ไม่สบายน่อง เมื่อยน่องเป็นประจำ เป็นเส้นเลือดขอดที่น่อง ฯลฯ เหล่านี้ถือเป็นเสียงเตือนจากร่างกายทั้งสิ้น
  • ปวดน่อง ตะคริวที่น่อง แก้ไขยังไง

    การแก้ไขเบื้องต้น พยายามเหยียดเข่าให้ตรง ใช้มือช่วยดันปลายเท้าหรือกระดกปลายนิ้วเท้าเข้าหาตัว หลังจากที่บรรเทาแล้วยังมีอาการปวดอยู่อาจใช้แผ่นร้อนประคบเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ที่สำคัญคือขณะที่เป็นไม่ควรบีบเค้นกล้ามเนื้อเพราะอาจกระตุ้นให้เป็นหนักขึ้นได้

    หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการปวดเมื่อยน่อง ขาบวม เป็นเส้นเลือดขอด เป็นตะคริวที่น่อง จนเป็นปัญหารบกวนการใช้ชีวิต ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เพราะนี่คือเสียงเตือนจากร่างกายที่กำลังบอกความผิดปกติของคุณ ต้นเหตุหลักอาจมาจากระบบโครงสร้างร่างกายที่เสียสมดุลก็เป็นได้ อย่าปล่อยให้ร่างกายต้องถูกรบกวนด้วยอาการเหล่านี้เพราะมันอาจเป็นบันไดที่จะนำไปสู่ความเจ็บปวดที่รุนแรงได้ หากได้ยินเสียงเตือนของร่างกายแล้วอย่าปล่อยเลยไป อย่างน้อยที่สุด การตรวจโครงสร้างร่างกาย อาจเป็นคำตอบที่ชัดเจนให้กับอาการที่เป็นอยู่ก็ได้