ศาลฎีกายกฟ้อง-เพิกถอนหมายจับ ‘ยิ่งลักษณ์’ คดีย้าย ‘ถวิล’ ชี้ไม่มีเจตนาพิเศษ

เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2566 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อม.11/2565 ที่มีอัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดในฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กรณีโอนย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

ล่าสุด ศาลฎีกาฯพิพากษายกฟ้อง และเพิกถอนหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยเห็นว่าไม่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ โดยศาลพิเคราะห์ตอนหนึ่งว่า กรณีดังกล่าวยังไม่อาจรับฟังได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีเจตนาพิเศษ และรับฟังไม่ได้ว่ามีการโอนย้ายนายถวิล เพื่อให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ว่างลง

สำหรับคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้ลงนามในคำสั่งให้นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติแต่งตั้งพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ให้ดำรงตำแหน่งเลขา สมช.แทนนายถวิล

จากนั้นนายถวิลได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดและศาลได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าว อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้ตำแหน่งหน้าที่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย

ต่อจากนั้น ในวันที่ 1 ก.ค.2563 คณะกรรมการป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของนางสาวยิ่งลักษณ์ และส่งให้อัยการสูงสุดส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

โดยอัยการสูงสุดจึงได้ส่งฟ้องต่อศาลฎีกา และมีการออกหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เนื่องจากไม่เดินทางมาศาลโดยไม่ได้แจ้งเหตุผล นอกจากนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเลื่อนอ่านคำพิพากษามาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 9 พ.ย.2566 เนื่องจาก 1 ในองค์คณะผู้พิพากษา มีปัญหาเรื่องสุขภาพและครั้งที่สอง วันที่ 29 พ.ย.2566 นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ อดีตรองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาในองค์คณะในคดีฯถึงแก่อนิจกรรม โดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้เลือกนายกษิดิศ มงคลศิริภัทรา เป็นองค์คณะผู้พิพากษาแทน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ( พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรา 11 เพื่อให้ผู้พิพากษาที่ได้รับเลือกเข้ามาเป็นองค์คณะแทนที่มีเวลาเพียงพอ กระทั่งมีคำพิพากษายกฟ้องดังกล่าว

ปัจจุบัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังใช้ชีงิตอยู่ในต่างประเทศ โดนออกเดินทางจากประเทศไทยตั้งแต่ปี 2558 การพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯวันนี้ถือเป็นศาลที่ 3 ที่พิจารณาคดีโยกย้ายเลขาธิการ สมช. หลังจากในปี 2557 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้เพิกถอนประกาศแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เพราะเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ เช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2550 กรณีใช้ตำแหน่งหน้าที่แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย