วันที่ 30 เม.ย.67 ที่ศาลปกครองกลาง ศูนย์ราชการฯแจ้งวัฒนะ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตสว. ปี 2543 – 2549 ในฐานะผู้ประสงค์จะลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) พร้อมคณะ เข้ายื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567
นายพนัส กล่าวว่า จากระเบียบกกต.ที่ออกมามีประเด็นที่อยากให้ศาลปกครองวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องการแนะนำตัวผู้สมัคร โดยเฉพาะข้อที่ 7,8 และข้อ 11 โดยเฉพาะข้อห้ามในเรื่องของการแนะนำตัวผ่านสื่อทุกชนิด รวมไปถึงโซเชียลมีเดียด้วย พวกเราคิดว่ากกต.ไม่มีอำนาจมากำหนดและจำกัดสิทธิในการแนะนำตัวผู้สมัคร ซึ่งเราเห็นว่าสิ่งที่กกต.ออกระเบียบออกมาเป็นการจำกัดสิทธิพวกเรามากเกินไป ผู้ที่ประสงค์จะลงสมัคร ควรมีสิทธิเสรีภาพในการแนะนำตัวให้เป็นที่รู้จักให้ประชาชนทั่วไป เพราะสว.ตามรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ที่มีส่วนได้เสียโดยตรง อีกทั้งวันนี้ยังได้ร้องให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวด้วย รวมถึงขอให้ไต่สวนฉุกเฉินต่อระเบียบดังกล่าว มองว่ายิ่งศาลไต่สวนเร็วเท่าไหร่ได้ก็ยิ่งดี
“ผมเองผมก็แนะนำตัวเอง ซึ่งอาจจะเป็นคนแรกพี่แนะนำตัวผ่านเฟซบุ๊ก ว่าผมตั้งใจจะลงสมัครสว. พอมีระเบียบนี้มันก็เป็นประเด็นขึ้นมาว่าเราจะสามารถทำสิ่งนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เราต้องการให้สิ่งนี้ชัดเจนขึ้นมา โดยมองว่ากกต.ไม่น่าจะมีอำนาจ ในการกำหนดเงื่อนไขในการแนะนำตัวได้แคบถึงเป็นระบบปิด และอำนาจของกกต.กับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกจำกัดในการที่ออกระเบียบนี้มา มีความสมดุลมากน้อยแค่ไหน”นายพนัส กล่าว
เมื่อถามว่า หากศาลไม่รับคำร้องจะดำเนินการอย่างไรต่อ นายพนัส กล่าวว่า ต้องรอดูคำสั่งของศาลว่าเราจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองหมายความว่าเป็นการคุ้มครองผู้ฟ้องนั่นคือพวกเรา และข้อบังคับใช้ที่กกต.จะไม่มีผลต่อพวกเรา
ส่วนระเบียบนี้จะมีการเอื้อหรือกระทบต่อใคร นายพนัส กล่าวว่า กระทบต่อพวกเราโดยตรงอยู่แล้ว เราไม่สามารถใช้เสรีภาพในการแนะนำตัวเองได้เลย และที่สำคัญที่สุด คือเป็นการปิดปากมัดมือมัดเท้าพวกเรา แต่ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้มีอิทธิพลไม่ว่าจะเป็นในระดับอำเภอ จังหวัด หรือประเทศ ซึ่งระเบียบนี้เราไม่สามารถไปร้องต่อใครได้เลย
เมื่อถามเพิ่มเติมว่า มีการวิเคราะห์กันว่าระเบียบนี้เป็นการสกัดสว.สีส้ม นายพนัส กล่าวว่า เราไม่ได้พิจารณาในประเด็นสีส้มหรือสีอะไร เราก็แค่อยากจะยึดตามสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยระบบตามระบอบประชาธิปไตย ควรจะเป็นระบบเปิดเพราะเป็นสิทธิของคนไทยทุกคน”การจะมีสว. 200 คน ปรากฏว่าประชาชนไม่รู้เรื่องอะไรเลย ซึ่งมันไม่น่าจะถูกต้องกับหลักของประชาธิปไตย”
ประเด็นน่าเป็นห่วงคือ มาตรา 36 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. ได้มีการกำหนดโทษไว้ด้วยว่าถ้ากระทำการผิดเงื่อนไขหรือวิธีการที่กกต.กำหนดมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ดังนั้นจึงต้องพิจารณาให้ดี ว่าระเบียบที่กกต.ได้ออกมานานเป็นเรื่องที่สำคัญมากหรือไม่ ถึงขนาดว่าถ้าทำผิดเงื่อนไข พวกเราจะต้องติดคุกเป็นปี และถูกตัดสิทธิทางการเมืองเหรอ สิ่งที่เป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ควรมีโทษมากขนาดนี้