กลุ่มทะลุฟ้า จี้รัฐบาลตรวจสอบ “บุ้ง ทะลุวัง” เสียชีวิต พร้อมเร่งคลอดกม.นิรโทษกรรม

กลุ่มทะลุฟ้า​ ยื่นหนังสือถึงรัฐบาล​ เรียกร้องตรวจสอบ สาเหตุการเสียชีวิต​”บุ้ง ทะลุวัง”  พร้อมคืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง เตรียมทวงคำตอบอังคารหน้า​ ด้านสมคิด บอกเสียใจ พร้อมยืนยัน​ศึกษาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จบก่อนเปิดประชุมสภาฯ

เวลา 10.30 น. วันนี้ (16 พ.ค.67) ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล 1111 กลุ่มทะลุฟ้า นำโดย น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง  น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ พร้อมด้วยมวลชน ทำกิจกรรมยื่นหนังสือถึงรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้มีนโยบายคืนสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องขังคดีทางการเมือง พร้อมยื่นข้อเรียกร้องให้มีการเร่งพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน โดยมี นายสมคิด เชื้อคง นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นผู้รับเรื่อง

น.ส.ปนัสยา เผยว่า วันนี้ที่มาเรียกร้องและเปิดคลิปต่างๆ ของพรรคเพื่อไทย และ นายเศรษ​ฐา​ ทวี​สิน นายกรัฐมนตรี เพราะมีการให้สัมภาษณ์ว่าอยากจะแก้ ม.112 ส่วน นส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พูดเองว่าถ้าเป็นรัฐบาล จะปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง และยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่พูดถึง

“กรณีนักโทษทางการเมือง และนักโทษ ม.112 เหมือนพวกคุณแค่ซื้อเสียงด้วยคำพูดก่อนเลือกตั้ง แล้วพอเป็นรัฐบาลคุณก็ลืม น่าผิดหวังมาก คนตายไปทั้งคน เขาจากไปไม่มีวันกลับมา เหลือแต่คนที่ยังอยู่ คนต้องรับผิดชอบคือรัฐบาล กระทรวงยุติธรรม ศาล กรมราชทัณฑ์ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คุณต้องรับผิดชอบทั้งหมด โดยเฉพาะโรงพยาบาลราชทัณฑ์ จะต้องให้คำตอบว่าคุณรักษาบุ้งยังไง ตนมีคำถามมากมายที่กรมราชทัณฑ์ตอบไม่ได้ ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ วันอังคารหน้าเราก็จะถามว่าสิ่งที่เรายื่นไปและข้อเรียกร้องต่างๆ เราจะได้คำตอบจากรัฐบาลหรือไม่”

สำหรับท่าทีของรัฐบาลในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา กับก่อนเลือกตั้งเหมือนเป็นคนละคนหรือไม่ นส.ปนัสยา ย้ำว่า ไม่เหมือนเดิม สายตาเปลี่ยนไป พฤติกรรมเปลี่ยนไป น่าผิดหวัง น่าละอายต่อตัวคุณเอง

ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการยื่นหนังสือ​ ได้มีตัวแทนอ่านแถลงการณ์​ โดยได้มีการยื่นข้อเสนอ​ 4 ข้อ  ประกอบด้วย 1.เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบการเสียชีวิตของน.ส.เนติพร หรือ บุ้ง ทะลุวัง ให้เกิดความโปร่งใสและชัดเจนโดยเร็ว 2. ให้ผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุด​ ได้รับสิทธิ์ในการประกันตัว 3. ชะลอการดำเนินคดีการจับคุมขังบุคคลในคดีการเมืองจนกว่าจะผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม​ รวมถึงสั่งไม่ฟ้อง ไม่ยื่นคำร้อง​ ไม่ยื่นอุทธรณ์ ไม่ฎีกา​ ถอนคำร้อง​ถอนอุทธรณ์และถอนฎีกา​ ในคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 4. เร่งรัดกันออกกฎหมายนิรโทษกรรม​ประชาชนทุกฝ่าย​ ทุกข้อหา​ ที่มีมูลเหตุ มาจากคดีทางการเมือง ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ได้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แล้วหวังว่าจะไม่มีบุคคลใด​ จะต้องเสียชีวิต​ และทุกๆคนจะได้รับสิทธิ​ในการประกันตัวและสิทธิ​ในการแสดงออกทางการเมือง ขณะเดียวกันทางกลุ่มจะมาติดตามข้อเรียกร้องอีกครั้งในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้

ด้าน นายสมคิด​ กล่าวว่า​ ในฐานะที่เป็นตัวแทนของรัฐบาล เสียใจ​ และเกินกว่าคำว่าเสียใจ ยืนยันว่ารัฐบาล ไม่ได้ก้าวล่วง​ฝ่ายตุลาการ ส่วนรายละเอียดทุกท่านทราบอยู่ว่ากรณีที่ถูกถอนประกันเพราะอะไร สิ่งเหล่านี้ ผู้ใหญ่ในรัฐบาลก็คุยกันว่าไม่สบายใจ​ นอกจากนี้ ที่มีการตั้งคำถามว่าการศึกษา พ.ร.บ. นิรโทษกรรมถูกขยายออกไปเรื่อย ๆ​ เมื่อไหร่จะเสร็จในฐานะที่ตนเป็นโฆษกกรรมการชุดนี้ บ่ายวันนี้ก็จะมีการประชุม​ และยืนยันว่าไม่ได้มีความล่าช้าแต่ขณะนี้อยู่ในการปิดสมัยประชุมสภาฯ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า มีผู้ถูกดำเนินคดี ทางการเมือง ตั้งแต่ปี18​กรกฎาคม​ 2563 ถึงปี 30 เมษายน 2567 มีผู้ถูกดำเนินคดี จากการแสดงความคิดเห็นในคดีทางการเมือง 1,954 คน​ จาก​ 1,295 คดี​ โดยมีคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก. ฉุกเฉินมากที่สุด​ 1,466 คน​ และ อันดับที่ 2 เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับ ม. 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย​ 272 คน​