กรมชลฯยืนยันอ่างเก็บน้ำพื้นที่อีสานใต้ยังแข็งแรง

กรมชลประทาน ยืนยันอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคอีสานใต้ทุกแห่ง ยังมั่นคงแข็งแรง การกักเก็บน้ำและการระบายอยู่ในภาวะสอดคล้องกัน พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์ที่อาจกระทบกับประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

 

นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน กล่าวยืนยันว่า อ่างเก็บน้ำทุกแห่งในพื้นที่อีสานใต้ยังมีความมั่นคงแข็งแรง แม้จะมีฝนตกมาปริมาณมาก แต่การกักเก็บน้ำ และการระบายยังสอดคล้องกับปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างฯ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ท้ายอ่าง ส่วนอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 100% ของความจุนั้น น้ำจะระบายไหลผ่านอาคารระบายน้ำล้น ซึ่งเป็นอาคารที่ทำหน้าที่เพื่อให้น้ำล้นผ่านในปริมาณที่สัมพันธ์กับปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างฯ โดยพื้นที่ด้านท้ายบางแห่งอาจมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบ้าง แต่ยืนยันว่าจะกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน จำนวน 76 แห่ง เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง มีปริมาณน้ำ 79% ของความจุอ่างฯ อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง มีปริมาณน้ำ 76% ของความจุอ่างฯ อ่างเก็บน้ำมูลบน มีปริมาณน้ำ 75% ของความจุอ่างฯ อ่างเก็บน้ำลำแชะ มีปริมาณน้ำ 75% ของความจุอ่างฯ และอ่างเก็บน้ำลำนางรอง มีปริมาณน้ำ 73% ของความจุอ่างฯ

อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 71 แห่ง มีรายละเอียดดังนี้ อ่างที่มีปริมาณน้ำในอ่าง น้อยกว่า 30% ของความจุ มีจำนวน 1 แห่ง อ่างที่มีปริมาณน้ำในอ่าง ระหว่าง 30%-50% ของความจุ มีจำนวน 2 แห่ง อ่างที่มีปริมาณน้ำในอ่าง ระหว่าง 51%-80% ของความจุ มีจำนวน 12 แห่ง อ่างที่มีปริมาณน้ำในอ่าง ระหว่าง 81%-100% ของความจุ มีจำนวน 13 แห่ง และ อ่างที่มีปริมาณน้ำในอ่าง มากกว่า 100% ของความจุ มีจำนวน 43 แห่ง โดยสำนักงานชลประทานที่ 8 ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง