จับตาพายุขึ้นฝั่งเวียดนาม ส่งผลให้อีสานฝนตกหนัก 19 ก.ย.นี้

วันนี้ (18 ก.ย.2567) กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนฉบับที่ 5 พายุดีเปรสชัน บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน อัปเดตข้อมูลเมื่อเวลา 04.00 น.มีความ เร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน คาดว่าในช่วงวันที่ 20 – 21 ก.ย.นี้ จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง

หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ และเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณภาคอีสาน และภาคเหนือตอนล่าง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยภาคเหนือตอนล่าง ครอบคลุม จ.แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร ตาก ภาคอีสานตอนบนและตอนกลาง หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด

ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มีกำลังแรงพัดเข้าหาพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำ ทำให้ภาคกลางตอนล่าง กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออก ครอบคลุม จ.นครนายก ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด  และภาคใต้ ฝั่งอันดามัน ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล มีฝนตกหนักมากบางแห่ง คลื่นลมมีกำลังแรงลม ในช่วงวันที่ 20–23 ก.ย.นี้

น.ส.จันจุดา พรศรี ผอ.กองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ขณะนี้ยังต้องจับตาเส้นทางดีเปรสชันที่กำลังเข้าไทยช่วงปลายสัปดาห์นี้ว่า จะมีทิศทางไปซ้ำรอยพื้นที่น้ำท่วมจากของหางของพายุยางิ ที่เคลื่อนเข้าเวียดนามตอนบนและอ่อนกำลังป็นหย่อมความต่ำ แต่ยังมีผลทำให้มีน้ำป่าไหลหลาก จากเมียนมาลงมาที่แม่สาย จ.เชียงรายน้ำท่วมหนัก ส่วนฝนที่ตกตอนนี้ ยังมาจากแนวร่องมรสุมกำลังแรงผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบนและภาคตะวันออก ประกอบกับมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงในทะเลอันดามัน ทำให้ฝนตกหนักในภาคเหนือ ภาคใต้และภาคกลาง และกทม.

น.ส.จันจุดา กล่าวอีกว่า สำหรับพายุดีเปรสชัน บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีแนวโน้มทวีกำลังเป็นพายุโซนร้อน คาดว่าช่วงค่ำวันที่ 19-20 ก.ย.นี้ จะเคลื่อนขึ้นฝั่งเวียดนามตอนกลางแล้ว จะส่งผลกระทบให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกของไทย จะมีฝนตกหนัก และลมแรงตั้งแต่คืนวันที่ 19 ก.ย.นี้

ขณะที่ GISTDA ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมด้วยข้อมูลภาพจากดาวเทียม Radarsat-2 ของวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา พบน้ำท่วมขังบริเวณ จ.หนองคาย 120,429 ไร่ นครพนม 110,377 ไร่ สกลนคร 107,085 ไร่ บึงกาฬ 73,730 ไร่ และอุดรธานี 64,148 ไร่ รวมพื้นที่ 475,769 ไร่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าว 334,019 ไร่ รวมถึงชุมชนที่อยู่อาศัย และเส้นทางคมนาคม