กรมชลฯ เร่งบริหารจัดการน้ำ หลังเมืองแพร่ ดีขึ้น ชี้ สุโขทัย รับช่วงมวลน้ำต่อ

วันนี้ (26 ส.ค. 67) ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ปัจจุบัน (26 ส.ค. 67) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 46,418 ล้าน ลบ.ม. (61% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 29,919 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 13,244 ล้าน ลบ.ม. (53% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 11,627 ล้าน ลบ.ม. ด้านสถานการณ์น้ำท่าในลุ่มน้ำสายหลักส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะปกติ ยังคงเหลือลุ่มน้ำแม่ยมที่ระดับน้ำยังสูงกว่าตลิ่งจึงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนจากอิทธิพลร่องมรสุมที่พาดผ่าน ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบในหลายจังหวัด อาทิ ที่จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำแม่น้ำอิงเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.พญาเม็งราย อ.เชียงแสน อ.เทิง อ.เวียงชัย อ.ป่าแดด อ.ขุนตาล และ อ.เมือง กรมชลประทาน ได้เร่งระบายน้ำลงแม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำโขงต่ำกว่าระดับน้ำในแม่น้ำอิง การระบายน้ำจึงยังทำได้ดี ส่วนในพื้นที่จังหวัดพะเยาและจังหวัดแพร่ ปริมาณน้ำจากแม่น้ำยมได้ทยอยไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างแล้ว ส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่เริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งรับมวลน้ำต่อจากทางตอนบนปริมาณน้ำเริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทาน ได้ผันน้ำผ่านประตูระบายน้ำคลองหกบาท ลงแม่น้ำยมสายเก่าก่อนที่จะผันเข้าไปเก็บไว้ในพื้นที่หน่วงน้ำทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ปัจจุบันได้รับน้ำเข้าทุ่งไปแล้วกว่า 10% หรือประมาณ 50 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำส่วนหนึ่งจะผันลงแม่น้ำน่านไปตามคลองสาขาต่างๆ โดยที่เขื่อนนเรศวรได้ปรับลดการระบายน้ำหน้าเขื่อนลง เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำที่ผันมาจากแม่น้ำยม

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมวลน้ำจากทางตอนบนเริ่มไหลลงมาสมทบ ทำให้ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทาน ได้ทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำทางตอนบนและปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงปลายเดือนนี้จนถึงต้นเดือนหน้า พื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง รวมถึงภาคตะวันออก จะมีปริมาณฝนตกหนักถึงหนักมาก จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ให้เฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด พร้อมพิจารณาพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำ และลำน้ำสาขา โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้น รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือประจำจุดเสี่ยง พร้อมเข้าแก้ไขสถานการณ์ได้ทันที ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุดตามนโยบายของรัฐบาล