สทนช.เร่งผลักดันความร่วมมือแม่น้ำโขงเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากร

“พลเอก ประวิตร” ห่วงสถานการณ์น้ำโขง สั่งการ “เลขาธิการ สทนช.” ร่วมประชุมระดับรัฐมนตรี 4 ชาติสมาชิก ก่อนร่วมเวทีประชุมสุดยอดผู้นำแม่น้ำโขงตอนล่าง ยืนยันท่าทีไทยพร้อมปกป้องทุกทรัพยากรในแม่น้ำโขงให้เกิดความยั่งยืน

 

เมื่อวานนี้ (4 เม.ย.66) ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติลาว เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีร่วมกับประเทศคู่เจรจา หุ้นส่วนการพัฒนา และพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อเตรียมการสําหรับการประชุมสุดยอดผู้นําลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 4 ว่า ตามที่ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีร่วมกับประเทศสมาชิกอีก 3 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา และสปป.ลาว ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ โดยได้กล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ “มุมมองในการเสริมสร้างนวัตกรรมและความร่วมมือ” รวมถึงประชุมหารือและแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ “มุมมองในการเสริมสร้างนวัตกรรมและความร่วมมือ” ร่วมกับรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิก และหุ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประเทศไทยได้เน้นย้ำในการพัฒนาความร่วมมือที่มีอยู่ใน 4 แนวทางหลัก คือ

1. ความร่วมมือในการพัฒนาการบริหารจัดการ ต้องมีการทบทวนระเบียบวิธีปฏิบัติอยู่เสมอและปรับปรุงแก้ไขเมื่อจำเป็นให้สอดรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในด้านสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาของมนุษย์ 2.เพิ่มความเชื่อมั่นในการสร้างความร่วมมือด้วยข้อมูลที่เป็นพื้นฐานจากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ เพื่อยกระดับองค์ความรู้ รวมถึงการจัดการฐานข้อมูลและสารสนเทศ ให้มีความชัดเจนและแม่นยำในการคาดหมายการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง 3. การให้ข้อมูลข้อเท็จจริงกับผู้มีส่วนได้เสียอย่างถูกต้องชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางริมแม่น้ำ อาทิ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นด้วย และ 4 การสร้างความร่วมมือและยกระดับนวัตกรรม เช่น การขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมทั้งลุ่มน้ำ ศึกษาการจัดตั้งกองทุนแม่น้ำโขง ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการที่มุ่งสู่การจัดทำมาตรการลดผลกระทบให้กับประชาชนริมแม่น้ำโขงของกลุ่มประเทศสมาชิกได้

“ทั้ง 4 ประเด็นข้างต้นเป็นท่าทีสำคัญที่ประเทศไทยเสนอว่าเราควรเร่งรัดดำเนินการให้สำเร็จตามเจตนารมณ์ในการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญและเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ซึ่ง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์แม่น้ำโขงเป็นอย่างมาก จากสภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความแห้งแล้งยาวนาน อุทกภัย ทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปริมาณปลาลดลงทั้งชนิด ปริมาณ และปลาบางชนิดสูญพันธุ์ไป ตะกอนในลำน้ำลดลงอันเห็นได้จากปรากฏการโขงสีคราม การพังทลายของตลิ่ง และการรุกล้ำมากขึ้นของน้ำเค็มที่บริเวณปากแม่น้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนริมน้ำโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง”ดร.สุรสีห์ กล่าว

ดังนั้น การประชุมสุดยอดแม่น้ำโขงถือเป็นเวทีสำคัญที่แสดงจุดยืนร่วมกันของผู้นําประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างในการดําเนินการตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ.2538 รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ซึ่งไม่เพียงแค่การพัฒนาความร่วมมือเฉพาะ 4 ชาติสมาชิกแม่น้ำโขงตอนล่างเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความร่วมมือกับประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนบน ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ในภูมิภาค รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับหุ้นส่วนการพัฒนาต่อแนวความร่วมมือของ MRC เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ และการประยุกต์สําหรับการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขงร่วมกับลุ่มน้ำนานาชาติอื่นๆ อีกด้วย

เลขาธิการ สทนช.กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ผลจากการหารือในวันนี้จะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่างครั้งที่ 4 ในวันพรุ่งนี้ (5 เม.ย.66) ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการให้เข้าร่วมเป็นผู้แทนในการร่วมรับรองปฎิญญาเวียงจันทน์ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีวันนี้ (4 เม.ย.66) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์เชิงนโยบายของประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในการมุ่งเน้นการดําเนินงานตามพันธกรณีของความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน