วันที่ 4 ม.ค. 67 ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งชื่อ Wannarrong Sa-ard โพสต์ภาพปลาชนิดหนึ่งที่มีลักษณะแปลกตา พร้อมข้อความว่า “ปลาอะไรคะ ติดเรือขึ้นมาค่ะ (เรือ ก.เทพเจริญพร 15) ละงู สตูล #สรุป จากภาพ น้องคือปลาออร์ฟิชนะคะ (ใช่หรือไม่ ต้องรอผลวิจัยอีกที) แต่ตอนนี้มีพี่นักวิจัยประมงมารับน้องไปวิจัยแล้วนะคะ”
ต่อมา ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญทางทะเล โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “พบปลาออร์ฟิชที่สตูล ตอนนี้ยืนยันแล้วครับ ภาพจากคุณ Apiradee Napairee ให้น้องๆ ที่กรมประมงไปถ่ายภาพมา”
“ออร์ฟิช เป็นปลาน้ำลึก พบได้ทั่วโลก แต่เนื่องจากอยู่น้ำลึก คนจึงไม่คุ้นเคย รูปร่างยังประหลาด บางคนเรียกปลาพญานาค เพราะเคยมีภาพถ่ายทหารอุ้มปลา บอกว่าเป็นแม่น้ำโขง ภาพนั้นเป็นปลาจริง แต่ถ่ายแถวชายฝั่งอเมริกา ไม่ใช่แม่โขง ในเมืองไทยเท่าที่จำได้ ไม่เคยมีข่าว (ต้องเช็กอีกทีนะครับ) แต่หากถามว่าในโลกหายากขนาดนั้นไหม ? คำตอบคือเจอเรื่อยๆ ครับ สมัยไปลงเรือสำรวจญี่ปุ่น ลงอวนน้ำลึกก็จับลูกปลาออร์ฟิชได้เช่นกัน”
“ออร์ฟิช แพร่กระจายทั่วโลก ที่น่าสงสัยคือ เจอที่สตูลได้อย่างไร ? อันดับแรก จับได้ที่ไหน ? ตอนนี้ผมยังไม่ทราบ เอาเป็นว่าแถวอันดามัน (ล่าสุดทราบว่าอยู่ระหว่างเกาะลิบงกับเกาะอาดัง ใกล้ฝั่งมากกว่าเกาะรอก) ทะเลอันดามันน้ำลึกครับ เฉพาะในไทยลึกสุดก็ 2,000 เมตร อาจมีออร์ฟิชอยู่แถวนั้น แต่ปกติเราไม่จับปลาน้ำลึก ก็เลยไม่ค่อยรู้จักกัน”
“อีกอย่างคือช่วงนี้น้ำเย็นเข้าอันดามัน ปรากฏการณ์ IOD (เล่าหลายหนแล้ว) มีปลาแปลกๆ เข้ามาตามมวลน้ำเย็น เมื่อไม่กี่วันก่อนก็มีโมล่าติดอวน ลูกเรือช่วยกันปล่อยไปแล้ว จึงเป็นไปได้ว่าออร์ฟิชตัวนี้จะเข้ามาตามน้ำ อีกทั้งยังมีขนาดเล็ก (ตัวใหญ่ยาวหลายเมตร ภาพจากอะควอเรี่ยมญี่ปุ่น ที่ผมลงให้ดู ตัวนั้นยาวเกิน 5 เมตร) เมื่อพิจารณาจากจุดจับได้ เป็นเขตน้ำไม่ลึกมาก คงเป็นปลาวัยรุ่นที่อาจเข้ามาตามมวลน้ำเย็น เท่าที่ทราบ จับได้โดยเรืออวนล้อม หมายถึงปลาขึ้นมาใกล้ผิวน้ำ ซึ่งบางครั้งก็เป็นไปได้ แต่ไม่เกิดขึ้นบ่อย”
“จากข้อมูลต่างๆ พอสรุปได้ว่า ปลาวัยรุ่นตัวนี้คงมากับน้ำเย็น เหมือนกับโมล่าที่ปรกติก็ไม่ค่อยพบในไทย มหาสมุทรมีปรากฏการณ์แปลกๆ เป็นระยะ แต่ถ้าเรามีข้อมูลเพียงพอ เราอธิบายได้ ไม่สร้างความตระหนกตกใจ ทราบว่าจะนำมาให้พิพิธภัณฑ์ ถือเป็นเรื่องดี จะได้รู้จักกันมากๆ ครับ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ยังเตรียมภาพออร์ฟิชในเวอร์ชั่นสุดน่ารัก ให้คุณพ่อคุณแม่อธิบายกับน้องๆ”
“อนึ่ง ไม่ต้องตื่นเต้นตกใจ แม้บางทีเราอาจได้ยินว่าเป็นปลาแผ่นดินไหว แต่เป็นการว่ายเข้ามาที่ฝั่ง ไม่ใช่จับมา แม้ว่ายมาฝั่งก็ไม่ใช่ทุกครั้ง อันที่จริง ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า จึงไม่ต้องตื่นตระหนกกัน สตูลยังเที่ยวได้ครับ”
สำหรับปลาออร์ฟิช หรือปลาพญานาค เป็นปลาที่ถูกพบเห็นได้ยากมาก เนื่องจากมักอาศัยอยู่ใต้ทะเลในระดับลึกกว่า 50-250 เมตรลงไป และอาจพบได้ที่ความลึกถึง 1,000 เมตร ส่วนหัวใหญ่ ลำตัวแบนสีเงิน มีจุดสีฟ้าและดำประปราย มีครีบหลังสีชมพูแดง บนหัวมีอวัยวะลักษณะคล้ายหงอนเป็นจุดเด่น และเป็นปลาที่มีกระดูกสันหลังยาวที่สุดในโลก ความยาวประมาณ 11 เมตร และส่วนใหญ่จะพบเป็นซากศพหรือมีสภาพใกล้ตายที่ลอยมาเกยตื้นตามชายฝั่งมากกว่าที่จะพบเห็นแบบมีชีวิตอยู่
โดยชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่า ปลาออร์ฟิช เปรียบเสมือนตัวแทนผู้ส่งสารจากวังของพญามังกร ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งท้องทะเล ที่จะมาเตือนผู้คนว่าภัยพิบัติกำลังจะมาเยือน ทั้งยังมีรายงานการพบปลาออร์ฟิชที่ญี่ปุ่นมากมาย เช่น เดือนก.พ. 62 ก็เคยเกิดเหตุการณ์ปลาพญานาคมาติดแหและเกยตื้นเกือบสิบตัวบริเวณอ่าวโทยามะ จนเกิดกระแสความตื่นกลัว หรือการพบปลาออร์ฟิชจำนวนมากผิดปกติบนชายฝั่งของญี่ปุ่นเมื่อปี 2553 ก่อนที่ต่อมาจะเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่จังหวัดฟุกุชิมะ เมื่อปี 2554
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีงานวิจัยหรือผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ชัดออกมาว่าการมาเยือนของปลาพญานาคมีความสอดคล้องกับสถิติการเกิดแผ่นดินไหวหรือภัยพิบัติอื่น ๆ ดังนั้นแล้วการพบเห็นปลาพญานาคจึงไม่ใช่เครื่องชี้วัดการเกิดภัยพิบัติที่น่าเชื่อถือ ควรเสพข่าวอย่างมีสติ รอฟังข่าวจากสื่อที่น่าเชื่อถือ และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติจริง