กรมชลประทาน ได้เผยแพร่ข่าวว่า ได้วางแผนจัดสรรน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 (1 พฤศจิกายน 2566 – 30 เมษายน 2567) ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มี(ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566) ประมาณ 1,019 ล้าน ลบ.ม. เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ การเกษตร การอุตสาหกรรม และสำรองไว้ต้นฤดูฝน (พ.ค.-ก.ค.67 ) รวมทั้งสิ้นกว่า 800 ล้าน ลบ.ม. โดยในช่วงฤดูแล้งจะระบายน้ำผ่านอาคารท่อระบายน้ำลงลำน้ำเดิม (River Outlet) ซึ่งการระบายน้ำผ่านอาคารดังกล่าว จะเป็นการระบายน้ำผ่านเทอร์ไบน์ (turbine) ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่มีกระบวนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำ โดยนำน้ำจากเขื่อนที่ต้องระบายอยู่แล้วมาผ่านเครื่องผลิตไฟฟ้าก่อนระบายลงสู่พื้นที่ท้ายน้ำในอัตราเท่าเดิม ซึ่งไม่กระทบต่อปริมาณน้ำที่ใช้สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ นับเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า เกิดความมั่นคงทางพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน ณ วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำประมาณ 148.40 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของความจุอ่างฯ มีการระบายน้ำเพื่อส่งใปสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ชลประทานด้านท้ายเขื่อนในอัตรา 40 ลบ.ม./วินาที หรือวันละ 3.45 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอและเป็นไปตามแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2567 ที่วางไว้